กุมภัณฑ์คืออะไร
กุมภัณฑ์ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กุมภัณโฑ กุมภัณฑี คือเทวดากุมภัณฑ์ชาย-หญิง กุมภัณฑเทวดา ไม่จัดว่าเป็นเทวดาเต็มตัว คือ เป็นกึ่งเทพกึ่งอมนุษย์ จึงต้องเสวยผลกรรมรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังมีรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปไม่เหมือนกับเทวดาเหล่าอื่นๆ เพราะมีรูปร่างลักษณะจำแนกออกตามภพภูมิที่ตนถือกำเนิด
กุมภัณฑ์ เป็นเทวดาจำพวกหนึ่งที่มีความดุร้าย โดยกุมภัณฑ์นั้น จะแบ่งออกได้เป็นหลายจำพวกด้วยกัน และมีหน้าที่แตกต่างกันไป
ความหมายของคำว่า “กุมภัณฑ์”
คำว่า “กุมภัณฑ์” มาจากรากศัพท์ของคำ 2 คำว่า “กุมภะ” แปลว่า “หม้อ” + คำว่า “อัณฑะ” แปลว่า “ไข่” กุมภัณฑ์ จึงมีความหมายรวมว่า “ผู้มีไข่ขนาดใหญ่เท่าหม้อ”
กุมภัณฑ์จึงหมายถึง เทวดากลุ่มหนึ่งที่มีรูปร่างสูงใหญ่ เพศชายจะมีอัณฑะใหญ่ ส่วนเพศหญิงจะมีท้องโต ตาโต แดงก่ำ มีลักษณะคล้ายๆ กับยักษ์ แต่ว่าไม่ใช่ยักษ์ เพราะไม่มีเขี้ยวเหมือนยักษ์
กุมภัณฑ์ คือเทวดาจำพวกหนึ่งตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา ว่ากันว่า มีร่างสูงใหญ่ ท้องโต ตาโตแดงก่ำ เป็นบริวารของท้าววิรุฬหก กุมภัณฑ์มี 3 พวก คือ
- กุมภัณฑ์ชั้นสูง อาศัยในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา หรือสวรรค์ชั้นที่ 1 มีหน้าที่รักษาประตูสวรรค์ บางพวกก็ได้ตำแหน่งเป็นพระยม ไปทำหน้าที่ตัดสินการลงทัณฑกรรมสัตว์นรกตามขุมนรกต่างๆ บ้างก็เป็นนายบัญชี ผู้อ่านบัญชีกรรม
- กุมภัณฑ์ชั้นกลาง อาศัยอยู่บนโลก ทำหน้าที่รักษาสถานที่ต่าง ๆ หากมีผู้บุกรุกหรือล่วงล้ำเข้าไป ก็จะจับผู้นั้นกินเป็นอาหาร หรือทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บหรือกระทั่งเสียชีวิต กุมภัณฑ์กลุ่มนี้ เป็นอมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มีรูปร่างและพฤติกรรมเหมือนกับพวกรากษส
- กุมภัณฑ์ชั้นต่ำ คือ “ยมทูต” หรือ “ยมบาล” อาศัยในนรกภูมิ มีหน้าที่ลงโทษสัตว์นรกต่าง ๆ ตามกรรมที่สัตว์นั้นได้ทำไว้
ในคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้กล่าวถึงกุมภกัณฑ์ไว้ว่า กุมภัณฑ์นั้น มีลักษณะ เป็นยักษ์แคระ พุงโต ผมหยิก ชอบกินเนื้อและดื่มสุรา ในรามเกียรติ์ “กุมภกรรณ” และ “มูลพลัม” เป็นยักษ์ที่มีลักษณะเหมือนพวกกุมภัณฑ์
การแบ่งชนชั้นของกุมภัณฑ์
กุมภัณฑ์จะแบ่งชนขั้นออกตามที่อยู่อาศัยที่สถิตอยู่ เช่น
1. กุมภัณฑ์ชั้นสูง จะอาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นที่ 1 คือ สวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ถ้ากุมภัณฑ์ตนใดมีฤทธิ์มาก ก็จะมีรูปร่างลักษณะต่างๆ เป็นเหมือนเทวดาหรือมนุษย์ ซึ่งมีความสง่างามและทรงบารมีอย่างมาก กุมภัณฑ์จำพวกนี้ จึงไม่ค่อยน่ากลัวอย่างพวกอื่นๆ ที่เหลือ
2. กุมภัณฑ์ชั้นกลาง จะอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ อันเป็นอุทยานสวรรค์ อยู่ตามป่าเขา ทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพื้นที่ พื้นดิน พื้นน้ำ หรือป่าไม้ อีกทั้งยังเป็นผู้พิทักษ์รักษาทรัพย์ในดิน ในน้ำ ในป่า ในถ้ำ ในภูเขา มีร่างกายกำยำ บางตนมีอัณฑะ (ไข่) ใหญ่ หรือท้องใหญ่เท่าหม้อ จึงได้ชื่อว่า “กุมภัณฑ์” มีอาณาเขตของตนให้รักษา โดยห้ามมิให้ผู้ใดเข้ามากล้ำกรายอย่างเด็ดขาด ทำหน้าที่คล้ายกับว่าเป็นเจ้าป่าเจ้าเขา แต่ว่าก็ไม่ใช่เจ้าป่าเจ้าเขาเลยซะทีเดียว
3. กุมภัณฑเทวดาที่อาศัยอยู่ในภพภูมิของมนุษย์ มีหน้าที่รักษาป่า ต้นไม้ ภูเขา สระน้ำ หนอง คลอง บึง แม่น้ำ ลำธาร พุทธเจดีย์ หรือสถูปสถานต่างๆ พื้นที่ที่กุมภัณฑเทวดาดูแลรักษาอยู่นั้น เรียกว่า เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา พระภูมิเจ้าที่ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ หากว่ามีผู้ใดล่วงล้ำเข้าไปในอาณาเขตที่ตนดูแลรักษาอยู่ กุมภัณฑเทวดาจำพวกนี้ก็จะเข้าทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต และจับเอาบุคคลนั้นไปกิน
กุมภัณฑเทวดาจำพวกนี้ มักถูกกล่าวถึงมากที่สุด เพราะมีสถานที่สิงสถิตอาศัยอยู่ตามแม่น้ำ มีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า “รากษส” (อ่านว่า “ราก-สด”) กุมภัณฑ์พวกนี้ มีรูปร่างลักษณะค่อนข้างน่ากลัว มีลักษณะตัวโต ตาแดง ท้องเขียว มือ-เท้าแดง เท้าคด มีนิสัยดุร้าย ชอบกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร โดยไม่ปรารถนาจะกินสิ่งอื่นใดเป็นอาหารนอกจากเนื้อสัตว์เท่านั้น
กุมภัณฑเทวดาจำพวกนี้ มีหน้าที่คล้ายๆ กันกับกุมภัณฑเทวดาชั้นกลางที่มักจะมีหน้าที่รักษาขุมทรัพย์ในที่ต่างๆ เช่น แก้วมณี สมบัติ เงิน ทอง ของมีค่า ของวิเศษต่างๆ และยังรักษาป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ถ้ำ เป็นต้น ให้อยู่ในการดูแลอารักขาของตน หากมีผู้ใดรุกล้ำเข้าไป ก็เข้าจัดการทำร้ายจนกระทั่งถึงแก่ชีวิตได้
พวกรากษส มีหน้าที่คอยคุ้มครองป้องกันแหล่งน้ำต่างๆ ในแดนมนุษย์ ทั้งบนเกาะแก่ง ป่าชายเลน รวมไปถึงห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ พวกรากษสนี้ หากดูเผินๆ ก็จะคล้ายกับพวกยักษ์ แต่ว่าความเป็นจริงแล้วเป็นคนละพวกกัน แต่ถ้ามารวมอยู่ในที่เดียวกันแล้วก็จะเห็นว่าคล้ายกันมากๆ จนแทบจะแยกไม่ออก
การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ของยักษ์และรากษสนั้นจะแตกต่างกันคือ พวกยักษ์จะกินเนื้อสัตว์แบบสดๆ ในขณะที่สัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่ ส่วนพวกรากษสนั้น จะกินซากสัตว์ หรือจะกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ รากษสจะทำให้สัตว์นั้นตายเสียก่อนแล้วจึงลงมือกินเป็นอาหาร คำว่า “รากษส” มาจากคำว่า “รกฺข” หรือ “รักษะ” แปลว่า “ผู้คุ้มครอง” หรือ “ผู้รักษา” หรือจะหมายความว่า “ผู้ป้องกัน” ก็ได้”
4. กุมภัณฑ์ชั้นต่ำ หมายถึงกุมภัณฑ์ที่อยู่ในนรกภูมิ มีรูปร่างสูงใหญ่ น่ากลัวมาก มีอัณฑะโต ท้องโต ตาแดงก่ำ นุ่งผ้าสีแดง เป็นบริวารของพยายม จะว่าไปแล้ว กุมภัณฑ์กลุ่มนี้ก็หมายถึง “ยมบาล” นั่นเอง อาศัยอยู่ในนรกภูมิ ทำหน้าที่ลงโทษ ลงทัณฑ์ ทรมาน ทรกรรมสัตว์สรกในขุมต่างๆ ในนรกภูมิ ตามแต่กรรมชั่วที่ตนเองเคยกระทำไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ พวกสัตว์นรกทั้งหลายจึงได้รู้สึกเกรงกลัวและหวาดหวั่นต่อกุมภัณฑ์เป็นหนักหนา
บุพกรรมที่ทำให้เกิดเป็นกุมภัณฑ์ประเภทยมบาล
สำหรับบุพกรรมที่ทำให้ไปเกิดเป็นกุมภัณฑ์ประเภทยมบาลนั้น ก็เพราะว่า เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์นั้น เป็นผู้ทำบุญและบาปเท่าๆ กัน เมื่อนำบุญและบาปที่บุคคลนั้นๆ ทำแล้วก็ปรากฏว่ามีน้ำหนักเท่ากัน ก็จะถูกส่งไปบังเกิดในนรก ทำหน้าที่เป็นนายนิรยบาล ผู้ทำหน้าที่ลงทัณฑ์ทรมานสัตว์นรกในนรกขุมต่างๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้รับผลแห่งกรรมใดๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ถือว่าตกอยู่ในนรกเช่นกัน เพราะก็ไม่ได้เสวยสุขด้วยประการใดๆ เช่นกัน
บุพกรรมที่ทำให้มาเกิดเป็นกุมภัณฑ์
สำหรับบุพกรรมที่ทำให้มาเกิดเป็นกุมภัณฑ์นั้น ก็มาจากเมื่อครั้งเป็นมนุษย์นั้น มีนิสัยหยาบคาย ถ่อย ต่ำสถุล ชอบทำเสียงโหวกเหวกโวยวายข้ามหัวผู้คน อีกทั้งยังชอบทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล อวดเบ่ง อวดดี อวดเก่ง เป็นมาเฟียคุมพื้นที่ ชอบนั่งฟังธรรมคนเดียว รวมถึงพวกที่ชอบอ้างเรื่องบุญ เพื่อที่ตัวเองจะได้รับลาภสักการะด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม คนจำพวกที่ว่าข้างต้นนั้น ก็ยังชอบการทำบุญทำทาน ชอบสนับสนุนการทำบุญสุนทาน และด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ได้จากการทำบุญและฟังธรรมเหล่านั้น จึงทำให้เมื่อได้สิ้นชีพวายชนม์จากภพมนุษย์มาแล้ว ทำให้ได้กำเนิดเกิดเป็นกุมภัณฑ์ ผู้มีอัณฑะ (ไข่) ใหญ่ไว้โอ้อวดผู้อื่น