พิธีบวงสรวง
คำกล่าวบวงสรวงเทวดา จัดอยู่ในพิธีบวงสรวงสังเวยอันเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการบำบวง เซ่นไหว้ และสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ตนเคารพนับถือ เพื่อช่วยดลบันดาลให้ประสบกับโชคลาภ ความผาสุก และความสำเร็จในกิจการทั้งปวง ในการบวงสรวงสังเวย จะต้องมีเครื่องสังเวยบูชาเป็นโภชนาหารต่างๆ โดยต้องมีบายศรีเป็นองค์ประกอบหลัก
บวงสรวงเพื่ออะไร
คำกล่าวบวงสรวงเทวดา เป็นการบอกกล่าวเทวดา อัญเชิญมาร่วมในพิธีและเสวยอาหารในบายศรีและเครื่องสังเวย การบวงสรวงสังเวย จะมีทั้งพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับ พระมหากษัตริย์ และพิธีที่ราษฎรจัดทำขึ้น ในการบวงสรวงของราษฎรมักใช้บายศรีปากชาม เครื่องบวงสรวงสังเวย ได้แก่ โภชนาหารที่มีพวกเนื้อสัตว์ ที่เรียกว่า เครื่องมัจฉมังสาหาร เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลา ซึ่งส่วนใหญ่ต้มสุกแล้ว และพวกที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ เรียกว่า เครื่องกระยาบวช เช่น มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำไท ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เผือกต้ม มันต้ม แกงบวด ถั่ว งา และนมเนย
บายศรีที่ใช้ในพิธีการบวงสรวง
ถ้าเป็นบายศรีในศาลพระภูมิต้องมีไข่ต้มสุกอีก ๓ ฟอง การทำพิธีบวงสรวงสังเวยของราษฎร เช่น การบวงสรวงสังเวยตั้งหรือถอนศาลพระภูมิเจ้าที่ ใช้พราหมณ์หรือผู้รู้เป็นผู้ประกอบพิธี แล้วแต่จะทำในโอกาสใด
พิธีบวงสรวงของหลวง
พิธีบวงสรวงของหลวงมักใช้บายศรีต้น ๓ ชั้น ไม่ใช้บายศรีปากชามอย่างของราษฎร เครื่องประกอบบายศรีมีหัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลาช่อน แป๊ะซะ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ไข่ เมี่ยงส้ม ผลไม้ กล้วยน้ำไท มะพร้าวอ่อน เครื่องประกอบบายศรีเหล่านี้ อาจงดเว้นบางอย่างก็ได้ ไม่ได้บังคับว่า ต้องมีตามรายการนี้ทั้งหมด
การทำพิธี
การทำพิธีนั้น พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี โดยกล่าวคำชุมนุมเทวดาและอ่านคำประกาศบวงสรวง พิธีบวงสรวงของหลวงเป็นพิธีใหญ่ และมักเกี่ยวกับ เรื่องของพระมหากษัตริย์ เช่น พิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี พิธีบวงสรวงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า การบวงสรวงสังเวยพระภูมิเจ้าที่ ที่วังไกลกังวล หัวหิน เป็นต้น
ตัวอย่างคำกล่าวในพิธีบวงสรวงสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สำหรับคำกล่าวในพิธีบวงสรวงสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็มีหลากหลาย แตกต่างกันไป ไม่ได้ตายตัว แต่ยังคงวัตถุประสงค์ในแบบเดียวกันก็คือ เซ่นสรวงบูชาให้เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์พึงพอใจ จะได้ดลบันดาลความสุข ความร่ำรวย ความสมหวังมาให้ เป็นวัตถุประสงค์หลักแห่งพิธีกรรม ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างคำบวงสรวงมาให้ศึกษาและสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับงานพิธี สถานที่ และวัตถุประสงค์ของแต่ละงานได้ตามความเหมาะสม ดังนี้