ฝึกสมาธิสยบความว้าวุ่นและความเครียด
ฝึกสมาธิสามารถนำมาใช้เป็นวิธีสยบความว้าวุ่นและความเครียดได้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อกล่าวถึง “สมาธิ” พระพุทธศาสนาให้ความหมายไว้ว่า “สมาธิ” หมายถึง การสงบใจ หรือสภาวะที่จิตตั้งมั่น แนบแน่น มีอารมณ์เป็นหนึ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นสภาวะที่จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์อื่นๆ
“การฝึกสมาธิ” คือ การฝึกทำใจให้สงบ การฝึกทำใจให้แนบแน่น การฝึกทำใจให้จดจ่อ การฝึกทำใจให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ให้จิตมีที่พึ่ง ให้จิตมีที่ยึดเหนี่ยว ให้จิตมีที่เกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามารบกวนทำให้จิตขุ่นมัว หรือซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ
“การฝึกสมาธิ” จัดเข้าเป็นหนึ่งในบรรดากรรมฐาน 2 อย่างในพระพุทธศาสนา อันได้แก่ “สมถกรรมฐาน” นั่นเอง
“สมถกรรมฐาน” คือ กรรมฐานเป็นอุบายทำใจให้สงบ คือ ทำใจให้นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน จดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง มีประโยชน์สำหรับระงับอารมณ์ความฟุ้งซ่าน อารมณ์ต่างๆ ที่มาจากหลากหลายสาเหตุ หลากหลายทิศทาง ซึ่งจิตของเราเข้าไปรองรับอารมณ์เหล่านั้นไว้ และถ้าหากว่าเป็นอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าพอใจ น่าใคร่ น่าประสงค์ น่าต้องการ จิตก็จะระเริงหลงใหลไปไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้เป็นคนหลงลืมตัว มัวเมาอยู่ในกิเลสโลกีย์ ถอนตนออกจากความลุ่มหลงในโลกมายาคติไม่ได้
แต่ถ้าหากว่าจิตของเราเข้าไรองรับอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าประสงค์ ไม่น่าต้องการ จิตก็จะซัดส่าย ดิ้นรน ฟุ้งซ่าน ทุกข์ทรมาน ปรารถนาจะพ้นไปจากอารมณ์หรือสภาวะแบบนั้นให้ไกลแสนไกล
ที่กล่าวไปข้างต้นทั้งหมดนั้น สมมติเอาว่ามีเพียงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เพียงแต่แวะเวียนเข้ามาให้จิตเข้าไปเกาะเกี่ยวสัมพันธ์ ยังมีผลทำให้จิตเป็นทุกข์เป็นสุขเป็นทุกข์ ให้จิตลุ่มหลง หรือดิ้นรน ซัดส่าย ทุกข์ทนทรมานได้ถึงเพียงนี้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในวันหนึ่งๆ จิตของเรามีการเสวยอารมณ์หรือรับเอาอารมณ์ต่างๆ มากมาย หลากหลายอารมณ์ หลากหลายสิ่ง หลากหลายบุคคล หลากหลายสถานการณ์ ที่คอยพุ่งทะยาน ถาโถม โรมรัน เรียงหน้าประจัญเข้ามาในครั้งเดียว จิตก็ย่อมแปรเปลี่ยนไปตามสภาวะแห่งอารมณ์เหล่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน
การที่จิตรับอารมณ์ต่างๆ เข้ามาอย่างมากมาย และไม่สามารถมีพลังจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นได้ดีพอ จึงทำให้จิตใจของคนเราต้องรับศึกหนัก อ่อนล้า โรยแรง มีพลังน้อย ถอยกำลังลงทุกที เมื่อประสบกับสถานการณ์ที่บีบคั้นหนักเข้า ก็ไม่สามารถจะมีแรงสู้ต่อไปได้ กลายเป็นดวงจิตที่อ่อนแอ และยอมพ่ายแพ้ต่อสภาวการณ์แห่งอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดของชีวิตคนๆ หนึ่งได้
แต่จะดีแค่ไหน ถ้าหากว่าจิตใจของคนเรานั้น สามารถเลือกจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาโดยผ่านสื่อคือตัวบุคคล ข้อมูลข่าวสาร ภาวะทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือสถานการณ์ต่างๆ ได้
วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะส่งผลทำให้จิตใจของเราสามารถเลือกรับอารมณ์เฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะของจิตเท่านั้น และสามารถเลือกกำจัดอารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาวะของจิตออกไปจากจิตจากใจได้ เฟ้นหาเฉพาะอารมณ์และความรู้สึกที่เป็นพลังบวกหรือเป็นมิตรต่อสภาวะทางจิตใจของเราเท่านั้น เพื่อให้จิตใจของเรามีความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง และแข็งแรง สามารถต่อสู้ และรับมือได้กับทุกสถานการณ์และทุกสภาวะทางอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น “การฝึกสมาธิ” จึงเป็นกุศโลบายให้จิตจดจ่อที่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้จิตเลือกรับเอาเฉพาะอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาวะของจิต และส่งพลังบวกให้กับจิตเพื่อให้เกิดมีพลังต่อสู้กับอารมณ์ความสับสนวุ่นวายต่างๆ รวมถึงทำให้จิตมีพลังมากพอที่จะรับมือกับเรื่องราวหรืออารมณ์ต่างๆ ที่ส่งผลให้คนเราเกิดความเครียดได้
ฉะนั้น “การฝึกสมาธิ” อยู่เป็นประจำ มีผลทำให้จิตใจของคนเราสามารถเลือกรับเอาอารมณ์ที่เป็นพลังบวกเข้ามาในชีวิต และเลือกที่จะกำจัดอารมณ์ที่ส่งผลเป็นพลังด้านลบออกไปจากจิตใจได้
“การฝึกสมาธิ” จึงสามารถสยบความวุ่นวายและช่วยคลายความเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจในเบื้องต้นได้ ทั้งนี้ ก็หมายรวมถึงความเครียดที่เกิดจากวิกฤตโควิด -19 นี้ด้วย เพราะการฝึกสมาธินี้ นับว่าเครื่องมือที่ช่วยให้จิตเลือกรับเอาเฉพาะอารมณ์ที่เป็นประโยชน์และสร้างพื้นที่แห่งความสุขให้กับชีวิตเท่านั้น แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตจะมีเรื่องราวให้ต้องเครียดและเดือดร้อนวุ่นวายใจสักเพียงใดก็ตาม
“แพรวด้วยความรู้ พราวด้วยประสบการณ์”