สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ความหมายของคำว่า “ดาวดึงส์”
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความหมาย 2 นัยด้วยกันคือ
- ดาวดึงส์ มีความหมายว่า เป็นที่เกิดของบุคคล 33 คน คือ พระอินทร์ 1 องค์ และเทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีก 32 องคื
- ดาวดึงส์ มีความหมายว่า เป็นพื้นแผ่นดินที่ปรากฏขึ้นในโลกเป็นครั้งแรกก่อนพื้นดินส่วนอื่น เพราะภูมินี้อยู่บนยอดเขาสิเนรุ
หากจะกล่าวโดยสรุปก็อาจกล่าวได้ว่า “สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ สถานที่อยู่ของเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ 33 องค์ โดยมีพระอินทร์ ทรงมีฐานสูงกว่าเทวดาผู้เป็นใหญ่เหล่านั้น เพราะพระอินทร์ทรงดำรงพระองค์อยู่ในฐานะพระราชาแห่งเทพ” นั่นเอง
ที่ตั้งและลักษณะของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 2 ในบรรดาสวรรค์ชั้นฉกามาพจรทั้ง 6 ชั้นนั้น และอย่างที่กันแล้วว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นที่อยู่ของเทวดาผู้เป็นใหญ่ ซึ่งเป็นเทวดาชนชั้นผู้ปกครอง จำนวน 33 องค์ โดยมีพระอินทร์ดำรงพระองค์อยู่ในฐานะพระราชาแห่งเทพ หรือเทวราชเป็นผู้ปกครองเหล่าเทวดาทั้งหมดอีกทีหนึ่ง
พระอินทร์ มีชื่อเรียกหลากหลายชื่อมาก อย่างที่เคยคุ้นชินกันในหลายๆ ชื่อ เช่น ท้าวสักกเทวราช ท้าวโกสีย์ อัมรินทร์ ท้าวมฆวาน ท้าวสุชัมบดี ท้าวสหัสสนัย เป็นต้น ซึ่งขอเรียกกันสั้นๆ ว่า พระอินทร์
พระอินทร์ได้ชื่อว่าท้าวสหัสสนัย หรือสหัสสเนตร เพราะพระอินทร์นั้นตาดีมา หมายถึงทิพยจักขุของพระองค์นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยมมากๆ สามารถมองเห็นจากที่ไกลได้อย่างชัดเจน และเห็นได้ไกลมาก เท่ากับดวงตาตั้งพันดวง
พระอินทร์ก็จะมีหน้าที่ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์รวมถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้วย สวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาสิเนรุ
สวรรค์ชั้นนี้ เดิมเป็นที่อยู่ของจอมอสูร (เวปจิตตอสูรและบริวาร) ซึ่งอสูรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ มีสถานะเป็นเทวดา มีศักดิ์สูงกว่าท้าวมหาราชทั้ง 4 ในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา เคยทำการรบชนะพระอินทร์ก็ตั้งหลายครั้ง คือสลับกันชนะ สลับกันแพ้ เวียนวนกันไป หมายความว่า มีความเก่งกาจอาจหาญไม่แพ้พระอินทร์เลยทีเดียว
อสรูเหล่านี้ แต่ก่อนก็อยู่บนสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่บนเขาพระสิเนรุมาอย่างเป็นปกติสุข แต่เมื่อพระอินทร์ผู้เคยเป็นมฆมาณพ เป็นผู้ประกอบกุศลกรรม พร้อมทั้งชักชวนสหายอีก 32 คนให้ประกอบกุศลกรรมต่างๆ เช่น สร้างศาลา และทำถนนหนทาง เป็นต้น (ปัจจุบันนี้เรียกว่าทำประโยชน์สาธารณะ หรือทำงานจิตอาสานั่นเอง) อีกทั้งมฆมาณพได้บำเพ็ญวัตตบท 7 ประการ คือ
- เลี้ยงดูบิดามารดา
- เคารพยังยำเกรงต่อผู้เฒ่าผู้แก่ในตระกูล
- กล่าวถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวาน
- ไม่กล่าววาจาส่อเสียด
- ไม่ตระหนี่
- ตั้งอยู่ในความสัตย์สุจริต และ
- ไม่เป็นคนมักโกรธ
ครั้นละโลกแล้ว มฆมาณพพร้อมสหายทั้ง 32 คน ก็ได้มาเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้ทำสงครามสู้รบกับจอมอสูรและบริวาร จนกระทั่งฝ่ายอสูรเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงต้องอพยพถิ่นฐานไปอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ (แต่ก็ยังมีสถานะเป็นเทวดามีฤทธิ์เดชเก่งกาจเช่นเดิม)
ในชั้นดาวดึงส์จะแบ่งเขตแดนสำคัญๆ ออกเป็น 4 ทิศใหญ่ ตรงกลางจะเป็นเมืองที่ประทับของพระอินทร์ และสหาย ชื่อ สุทัสสนเทพนคร ซึ่งอยู่เป็นเมืองศูนย์กลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเวชยันต์ประสาทเป็นจุดศูนย์กลาง มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 3 เขตใหญ่ย่อยออกไปอีก คือ
- เขตแรกอยู่วงในใกล้เวชยันตปราสาท มีอยู่ 8 เขต
- เขตที่ 2 อยู่วงกลาง แบ่งออกเป็น 10 เขต
- เขตที่ 3 อยู่วงนอกสุดแบ่งออกเป็น 14 เขต
รวมทั้งสิ้นเป็น 32 เขต เท่ากับจำนวนของพระสหาย
มหาสุทัสสนเทพนคร ซึ่งเป็นเมืองกลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพนครขนาดใหญ่กว้างขวางมาก ปราสาทต่างๆ ล้วนเป็นแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำแพงแก้วแวดล้อมมหานครอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากสุทัสสนเทพนครมีความกว้างใหญ่ถึง 10,000 โยชน์ ทำให้มีประตูที่กำแพงแก้วถึง 1,000 ประตู และมียอดปราสาทอันสวยงามอยู่เหนือประตูทุกประตู เมื่อประตูเปิดแต่ละครั้งจะบังเกิดเสียงดนตรีทิพย์อันไพเราะกังวาน
ในท่ามกลางเทพนครนั้น มีเวชยันตปราสาทสูงถึง 1,000 โยชน์ มีความงดงามเกินกล่าวพรรณนาได้ ล้วนแล้วประดับด้วยรัตนชาติ 7 ประการ เพราะเป็นที่ประทับของท้าวสักกะจอมเทพ พระนครนั้นประกอบด้วยประตู 1,000 บาน ประกอบด้วยอุทยานสวรรค์และสระโบกขรณี ที่เรือนยอดของเวชยันต์ปราสาทซึ่งมีความสูง 700 โยชน์ ล้วนประกอบด้วยแก้ว 7 ประการทั้งสิ้น มีธงหลากสีประดับประดาอย่างสวยงาม ธงต่างๆ เหล่านั้นสูงถึง 300 โยชน์ ผุดขึ้นในท่ามกลางพระนคร ตรงไหนมีคันธงเป็นทองตัวธงจะเป็นแก้วมณี ผืนธงจะเป็นทองระยิบระยับ ถ้าคันธงเป็นแก้วประพาฬ ผืนธงจะเป็นแก้วมุกดา หากคันธงเป็นแก้ว 7 ประการ ผืนธงจะเป็นแก้ว 7 ประการ เหมือนกัน
ออกจากเวชยันตปราสาทอันเป็นที่ประทับของพระอินทร์แล้ว ซึ่งมีความยิ่งใหญ่อลังการแล้ว ยังมีอุทยานสวรรค์เกิดขึ้นมากมาย เช่น
- ทิศตะวันออก มีอุทยานสวรรค์ชื่อ จิตรลดา ที่ใหญ่โตโอฬารมาก สวยงามกว่าสวนที่มีทั้งหมด มีเนื้อที่ประมาณ 500 โยชน์ มีสระโบกขรณี 2 สระ คือ จิตรโบกขรณี และจุลจิตรโบกขรณี เหตุที่สวนนี้ ชื่อจิตรลดา เพราะว่ามีเถาวัลย์ที่พิเศษซึ่งเป็นเถาชั้นยอดอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า อาสาวดี เถาวัลย์ชนิดนี้ หนึ่งพันปีจะออกดอกครั้งหนึ่ง เมื่อออกผลก็จะออกเพียงผลเดียวเท่านั้น ครั้งออกผลแล้วจะส่งกลิ่นหอม ไม่แพ้ดอกปาริชาติ ดังนั้นเถาวัลย์นี้ จึงเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของเหล่าทวยเทพ ต่างรอคอยดูผลของเถาวัลย์อาสาวดีนี้
- ทิศตะวันตก มีอุทยานสวรรค์ชื่อ นันทวัน ในสวนนี้ จะมีสระโบกขรณี 2 สระ คือ มหานันทาโบกขรณี และจุลลนันทาโบกขรณี และมีแท่นบรรทมสำหรับให้เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ได้ทำการจุติด้วย ซึ่งเทพผู้เกิดจุตินิมิต จะมายังสวนนี้เพื่อทำการจุติ เหล่าทวยเทพสหายก็จะมาอำนวยอวยพรให้บังเกิดในสุคติภพต่อไป นอกจากนี้ที่สวนนันทวัน ยังมีดอกมณฑารพเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้นไม้ประจำสวนนันทวัน ดอกไม้นี้เคยตกจากสวรรค์ เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่พระองค์กำลังดับขันธปรินิพพาน ดอกมณฑารพมีสีเหลืองทอง มีรัศมีสวยงามมาก มีกลีบเท่าฉัตร ใบไม้ ละอองเกสรใหญ่เท่าทะนาน และในระหว่างสระก็มีสวน ในระหว่างสวนก็มีสระ สลับกันไปอย่างเป็นระเบียบ งดงาม สระแต่ละสระจะมีขนาดกว้างใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ส่วนมากจะกว้างประมาณ 500 โยชน์
- ทิศเหนือ มีอุทยานสวรรค์ชื่อ มิสกวัน ภายในมีสระโบกขรณี 2 สระ คือ สุธรรมาโบกขรณี และธรรมาโบกขรณี
- ทิศใต้ มีอุทยานสวรรค์ชื่อ ปารุสกวัน เป็นสวนสวยที่ใหญ่ที่สุดในทิศนี้ มีสระโบกขรณี 2 สระ คือ ภัททาโบกขรณี และสุภัททาโบกขรณี
- ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในระหว่างสวนมิสกวันกับสวนนันทวัน มีสระบัวชื่อ ปทุมวัน ซึ่งมีความงามมาก ชาวสวรรค์มักจะพาไปเก็บดอกปทุมนี้ เพื่อไปบูชาพระจุฬามณีในวันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เป็นประจำ
- ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในระหว่างสวนนันทวันกับสวนปารุสกวัน มีสระบัวชื่อ อุบลวัน เป็นสระบัวสายที่มีชื่อเสียงมาก
- ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในระหว่างสวนปารุสกวันกับสวนจิตรลดา มีสระบัวชื่อ นิลุบลวัน เป็นสระบัวเขียว ณ บริเวณนี้ จะเป็นที่ประดิษฐานของพระมหาจุฬามณี บุญสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าเทวดา ทั้งหลาย ซึ่งจะพากันมากราบไหว้บูชาด้วยทิพยบุปผาอยู่เป็นประจำ เพื่อเติมบุญบารมีให้กับตนเอง เพราะเมื่ออยู่บนสวรรค์แล้ว หมดสิทธิ์ทำความดี มีเพียงสถานที่เดียวที่จะก่อบุญกุศลได้ ชาวสวรรค์ ส่วนใหญ่จะเป็นพุทธศาสนิกชน ครั้งเมื่อเป็นมนุษย์อาจจะมีความเชื่อหลากหลาย เพราะความไม่รู้ ต่อเมื่อได้อยู่บนสวรรค์แล้ว จะรู้ด้วยตนเองว่า ทำบุญในพระพุทธศาสนาจึงจะถูกหลักแห่งการทำบุญ คือ ทำแล้วได้บุญมาก
- ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างสวนมิสกวันกับสวนจิตรลดา จะมีสระบัวชื่อ ปุณฑริกวัน เป็นสระดอกบัวขาว ที่สวนนี้จะมีต้นปาริฉัตร ใต้ต้นปาริฉัตรจะมีบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ประทับนั่งของพระอินทร์ และยังมีสุธรรมเทวสภา อันเป็นที่ประชุมของเหล่าเทวดาอีกด้วย เยื้องจากสุธรรมเทวสภา จะมีสระแก้วใส และมีป่ามหาวัน ที่ตรงนี้จะมีปราสาทพันหลังเกิดขึ้น สำหรับเป็นที่ประทับของพระอินทร์ และเหล่าทวยเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ ที่เข้ามาเที่ยวชมอุทยานสวรรค์แห่งนี้
ปัจจุบันพระอินทร์ หรือ ท้าวสักกะเทวราช องค์นี้ ได้สำเร็จโสดาบันแล้ว ด้วยการได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสักกปัณหสูตร นับเป็นพระอริยบุคคลขั้นแรกในพระพุทธศาสนา
และอยู่ในดาวดึงส์ภิภพนี้ต่อไปจนสิ้นอายุขัย และเมื่อพรองค์จุติจากชั้นดาวดึงส์แล้ว จะมาบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในมนุษยโลก และสำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคล เมื่อสิ้นชีพแล้วก็ไปกลับไปเกิดในชั้นดาวดึงส์อีก และได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี เมื่อสิ้นอายุแล้ว จะไปบังเกิดเป็นพรหมโลก ในชั้นสุทธาวาสภูมิขั้นต้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐาภูมิ ตามลำดับ และเข้านิพพาน ในชั้นสุดท้าย
สถานที่สำคัญในสวรรค์ดาวดึงส์
สวรรค์ชั้นที่ 2 หรือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามากมาย ทำให้เกิดเป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญของเทวโลกหลายแห่ง ดังนี้
ศาลาสุธรรมาเทวสภา
สถานที่ฟังธรรมในเทวโลก บรรดาเทวดาทั้งหลายจะมาประชุมกันเพื่อฟังธรรม โดยมีท้าวสักกะเทวราช องค์อมรินทร์เป็นประธาน
ศาลาแห่งนี้ ประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการ สูง 500 โยชน์ วัดโดยรอบได้ 1,200 โยชน์ พื้นที่ประกอบด้วยแก้วผลึก เสาเป็นทอง
เครื่องบน คือ ขื่อ คาน ระแนง ทำด้วยรัตนะทั้ง 7 หลังคามุงด้วยอินทนิล เพดาน เสา ประกอบด้วยแก้วประพาฬ ลวดลายต่าง ๆ ช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยเงิน ตรงกลางศาลา เป็นที่ตั้งธรรมาสน์ สูง 1 โยชน์ ทำด้วยรัตนะทั้ง 7 ปกกั้นด้วยเศวตฉัตรสูง 3 โยชน์ ข้างธรรมาสน์ เป็นที่ประทับของท้าวโกสีย์เทวราช ถัดไปเป็นที่ประทับของเทวดาผู้ใหญ่ 32 องค์ และเทวดาอื่น ๆ
ต้นปาริชาต (กัลปพฤกษ์)
อยู่ในอุทยานทิพย์ปุณฑริกวัน มีบริเวณกว้างขวาง มีกำแพงล้อมรอบ 4 ด้าน กลางสวนนั้นมีต้นไม้ทองหลางใหญ่แผ่สาขาอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า ต้นปาริชาต หรือ กัลปพฤกษ์ซึ่งเป็นต้นไม้ทิพย์
ต้นกัลปพฤกษ์ นี้ 100 ปี ถึงจะออกดอกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงคราวนั้น ดอกไม้ในสวรรค์นี้ก็จะบานสะพรั่ง เหล่าเทพบุตร เทพธิดา ก็จะพากันมารื่นเริง ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาเฝ้าจนกว่าดอกไม้จะบาน
เมื่อดอกไม้สวรรค์บานแล้ว จะปรากฏแสงรุ่งเรืองงดงามยิ่งนัก รัศมีดอกปาริชาติจะส่องรัศมีรุ่งเรืองไปไกลหลายหมื่นวา เมื่อลมรำเพยพัดพาไปในทิศใด ย่อมส่งกลิ่นหอมไปในทิศนั้น เป็นระยะไกลแสนไกล
ดอกไม้นี้จะบานสะพรั่งไปทุกกิ่งก้านทั่วทั้งต้น ถ้าเทพบุตรเทพธิดาองค์ใด ปรารถนาจะได้ดอกปาริชาตก็จะตกลงมาในมือดั่งรู้ใจ ถ้ายังไม่ได้รับในมือ ดอกก็ยังไม่ทันตกลงดิน โดยมีลมชนิดหนึ่ง จะพัดชูดอกไว้ในอากาศ จนกว่าเทพยดาผู้ใดประสงค์ก็จะมารับเอาไป
บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์
แท่นศิลาแก้ว สีแดงดังดอกชบา อ่อนนุ่มดังฟูก เมื่อพระอินทราธิราชประทับพักผ่อนอิริยาบถอยู่เหนือแท่นศิลาอาสน์แล้ว แท่นทิพย์นี้ก็จะอ่อนยุบลงไป และเมื่อพระองค์ทรงลุกขึ้น แท่นศิลาก็จะฟูขึ้นเต็มตามเดิม เป็นแท่นศิลาที่ประหลาดมหัศจรรย์ยุบและฟูเองโดยธรรมชาติ
สวนสวรรค์
อุทยาทิพย์ที่มีความรื่นรมย์ สนุกสนาน หาที่เปรียบไม่ได้ในมนุษยโลก เต็มไปด้วยบุพผาชาตินานาพรรณ มีสระโบกขรณีอันทิพย์ มีน้ำใสดั่งแก้ว มีก้อนศิลาที่เป็นทิพย์ รัศมีรุ่งเรือง มีแท่นที่นั่งอันอ่อนนุ่ม สีใสสะอาด เหล่าเทพบุตรเทพธิดา ก็จะมาในสวนสำราญเหล่านี้อย่างไม่ขาดสาย
อุทยานทิพย์ มีชื่อเสียง 4 อุทยาน ได้แก่
- นันทวันอุทยานทิพย์
- จิตรลดาวันอุทยาทิพย์
- มิสกวันอุทยาทิพย์
- ปารุสกวันอุทยานทิพย์
พระเกศจุฬามณีเจดีย์
สร้างด้วยแก้วอินทนิลอันเป็นทิพย์ มีความสวยงามรุ่งเรืองยิ่งนัก ยอดพระเจดีย์เป็นทองคำบริสุทธิ์ ประดับด้วยรัตนะ 7 ประการ สูง 80,000 วา มีกำแพงทองคำล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ มีความยาว 160,000 วา ประดับด้วยธงนานาชนิด พระเจดีย์นี้เป็นที่บรรจุสิ่งที่มีค่ายิ่ง 2 อย่างคือ
- พระเกศโมลี ขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ มวยผมที่ตัดออก ขณะที่เสด็จออกบรรพชา และได้อธิษฐานว่า “ถ้าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ขอให้มวยพระเกศโมลีจงลอยขึ้นไปบนนภากาศเถิด อย่าได้ตกลงสู้พื้นปฐพีเลย” ครานั้นสมเด็จพระมหาอมรินทราธิราช ผู้เป็นใหญ่ในชั้นดาวดึงส์นี้ จึงนำเอาพระผอบทองมารองรับพระเกศโมลีไว้ แล้วนำขึ้นไปบนดาวดึงส์สวรรค์ สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระโมลีโดยเฉพาะ
- พระบรมธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องขวา ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โทณพราหมณ์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้นำเอาพระเขี้ยวแก้วซ่อนไว้ที่ผ้าโพกศีรษะ แล้วจึงได้จัดพระบรมสารีริกธาตุที่เหลือออกเป็น 8 ส่วน เพื่อถวายแก่กษัตริย์ต่างๆ ในครั้งนั้น ท้าวสักกะเทวราชจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเขี้ยวแก้วจากผ้าโพกศีรษะของโทณพราหมณ์นั้นลงสู่ผอบทองคำทิพย์อีกทอดหนึ่งด้วยกิริยาอันเลื่อมใสแล้ว รีบเสด็จมาประดิษฐานบรรจุไว้ในพระเกศจุฬามณีเจดีย์นี้
ทางไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สร้างเสบียงไว้นำทางคือ บุญกุศล พยายามทำตนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม
ห้ามตนไม่ให้ทำกรรมอันหยาบช้าลามก
อย่าให้บังเกิดความสกปรกแห่งกาย วาจา ใจ
ในทานสูตรกล่าวไว้ว่า…
“ถ้าผู้ใดทำทานโดยไม่หวังผลบุญของการทำทาน แต่ทำทานโดยคิดว่า การทำทานนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม เมื่อตายลงย่อไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์”
“ดูกร สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทาน แล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้ว เราจักได้เสวยผลทานนี้ แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า การให้ทาน เป็นการกระทำที่ดี เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำการกิริยาตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์สวรรค์”
ผู้ประสงค์จะไปอุบัติในสวรรค์ชั้นที่ 2 คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ ก็ตพึงบำเพ็ญบุญทาน สร้างบารมี ทำแต่ในสิ่งที่ดีงาม เมื่อได้สะสมบุญทานเช่นนี้แล้ว ก็สั่งสมเทวธรรมคือธรรมที่เมื่อประพฤติจนเป็นอาจิณแล้วก็จะส่งผลให้บังเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่นการบำเพ็ญตนให้มีหิริ-ความละอายต่อความชั่ว และโอตตัปปะ-ความเกรงกลัวต่อบาป การประพฤติธรรมที่ดีงาม (ธรรมขาว) เป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นคนดีตามหลักสัปปุริสธรรม 7 เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ได้