pin up1 winaviator mostbetpinup casino1 winmostbet kzmosbet casinoaviatorlucky jet1 winpin up casino india1win slotlucky jet casinopinup az4r betmosbet indiamosbet aviatormostbet casino1win kz1 win4rabet indiapin-up kzmosbetmosbet1 win1win1win aviatorpin upparimatchlucky jet4rabetмостбет1win loginpin up 777mostbet1 вин авиаторpin uplucky jet1 winpin up4rabetpinupmosbet1 winmostbet azluckygetmostbetmosbetmostbet casino1wınparimatch

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

โดย : ปราโมทย์คริษฐ ธรรมคุณากร กรรมการโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคกับการปกป้องสิทธิของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ใช้บังคับมา 40 กว่าปีแล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยยังก้าวไปไม่ถึงไหน ผู้บริโภคยังถูกผู้ให้บริการและผู้ประกอบกิจการเอาเปรียบเช่นเดิม เช่น การโฆษณาขายสินค้าอ้างสรรพคุณเกินจริง การขายบริการที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ ทรัพย์สินของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง อาจจะเป็นเพราะคนไทยไม่ตระหนักหรือเห็นความสำคัญในการปกป้องสิทธิ์ของตนเองในฐานะผู้บริโภคเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ความจริง กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 คือ พระราชบัญญัติหางนม พ.ศ. 2470 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เหตุผลสำคัญตาม พ.ร.บ. นี้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของคนไทย เนื่องจากการใช้หรือดื่มหางนมควรจำกัดเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่ควรนำไปเลี้ยงทารก เพราะไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เป็นต้น

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่เดิมการบังคับใช้และความรับผิดชอบเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยละเมิด และประมวลกฎหมายอาญา แต่เนื่องด้วยความเจริญของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ โซเชียลมีเดีย ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน รวมทั้งแนวคิดในการปรับกระบวนทัศน์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การคุ้มครองผู้บริโภค จึงต้องมีมาตรฐานสากล พระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 จึงมีความจำเป็นในการนำมาบังคับใช้ในยุคปัจจุบัน

ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ 2556 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดรับกับการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาตามประมูลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขและเพิ่มเติมในรัฐบาลรัฐประหาร โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีแนวโน้มที่จะแก้ไขเพิ่มเติมตามความเจริญของโลก

ความเป็นมา

หลักการและเหตุผลของการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

แต่เดิมมาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค อาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพิจารณาพิพากษาโดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นหลัก ต่อมาเมื่อมีการติดต่อค้าขายทำธุรกิจให้บริการในโลกยุคเศรษฐศาสตร์ไร้พรมแดน ปัญหาและการเอาเปรียบผู้บริโภคสลับซับซ้อนขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องบัญญัติกฎหมายรองรับ นอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และวิธีพิจารณาโดยศาลชำนัญพิเศาแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายพิเศษในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้สรุปย่อๆ ว่า “เนื่องจากปัจจุบัน การเสนอขายสินค้าและบริการต่างๆ ต่อประชาชน นับวันแต่จะเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจการค้าและผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาได้นำวิชาการทางการตลาดและการโฆษณามาส่งเสริมการขายสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบที่จะไปฟ้องร้องต่อศาล ทั้งมีความพร้อมและกำลังเงินไม่เพียงพอ บางกรณีไม่อาจจะบังคับยับยั้งการกระทำที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ทันท่วงที สมควรออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค”

นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติอื่น

สภานิติบัญญัติแห่งชาติในรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตราพระราชบัญญัติ “การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558” เพื่อคุ้มครองลูกหนี้กู้ยืมเงินในฐานผู้บริโภคในด้านการบริการ ไม่วาจะเป็นหนี้ในระบบหรือนอกระบบ ซึ่งจะยกเป็นตัวอย่างในบทความนี้เพื่อประกอบในการทำความเข้าใจบริบทของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างไร ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินทั้งในระบบและนอกระบบ จากนายทุนหรือผู้ประกอบธูรกิจบริการให้กู้ยืมเงิน เพื่อนำเงินมาลงทุนหรือจุนเจือครอบครัวยามขัดสน

กฎหมายที่ใช้บังคับในการพิจารณาคดี

กระบวนการพิจารณาคดีผู้บริโภคมีกฎหมายบังคับใช้อยู่หลายฉลับ อาศัยหลักตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 บัญญัติว่า “กระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ตามมาตรา 6 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

ดังนั้นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีคุ้มครองผู้บริโภค คือ

  1. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  2. ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาที่ออกตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 6
  3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

การที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 6 บัญญัติให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาที่ออกใช้บังคับแล้ว คือ ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนการพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ซึ่งข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาดังกล่าว มุ่งให้ความเท่าเทียมกันแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย แต่มีบางส่วนที่ทำให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคเป็นพิเศษ เช่น ให้ผู้ประกอบธุรกิจเสนอคำฟ้องที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลเป็นหลัก ตามมาตรา 17 ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงในการยื่นคำฟ้อง ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีผู้บริโภค ตามมาตรา 18 ฯลฯ

ความมุ่งหมายหรือหัวใจสำคัญของคดีผู้บริโภคแต่งต่างจากคดีแพ่งทั่วไป

กระบวนการพิจารณาคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีทั้งหมด 65 มาตรา แตกต่างจากการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้การดำเนินคดีผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับคดีและเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยคำนึงถึง :

  1. ความสะดวก โดยโจทก์สามารถเสนอคดีด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 20 จำเลยก็มีสิทธิให้การด้วยวาจาได้ตามมาตรา 26 โดยเจ้าพนักงานคดีจะเป็นผู้จัดบันทึกรายละเอียดของคำฟ้อง หรือคำให้การจำเลยบันทึกเสนอตามแบบฟอร์มเสนอต่อศาล
  2. ความรวดเร็ว คือ ความเด่นของคดีผู้บิโภค เพื่อให้การพิจารณาคดีผู้บริโภคเสร็จไปอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้ว ศาลต้องไกล่เกลี่ยเพื่อให้คู่ความตกลงหรือประนีประนอมกันได้ในอันดับแรก การพิจารณาคดีจะรวดเร็วกว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งทั่วไป คือ นัดพิจารณาเพื่อไกล่เกลี่ย ยื่นคำให้การและสืบพยานในวันเดียวกันโดยไม่ต้องชี้สองสถาน ศาลต้องกำหนดวันนัดพิจารณาคดีไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้งอตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ศาลมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินกระบวนพิจารณาบางเรื่องแทนได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีไปทันที โดยไม่จำเป็นต้องออกคำบังคับก่อนก็ได้ ประการสุดท้าย ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค หรือศาลอุทธรณ์ภาค แผนกคดีผู้บริโภค ต้องพิจารณาคดีให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำคดีลงสารบบความของศาล ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
  3. ประหยัด ผู้ฟ้องคดีผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคไม่เสียค่าธรรมเนียมในการยื่นฟ้องและในการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ การพิจารณารวดเร็วรวบรัด ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเดินทางมาศาลน้อยลง โจทก์สามารถยื่นฟ้องด้วยวาจา และจำเลยให้การด้วยวาจา โดยให้เจ้าพนักงานคดีจดบันทึก ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย (แต่ควรมีทนายเป็นที่ปรึกษา)
  4. เจ้าพนักงานคดี มีหน้าที่ช่วยคู่ความและศาลในการจดบันทึกคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลย และทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล ซึ่งการพิจารณาคดีแพ่งทั่วไปไม่มี ทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด รอบคอบ ทำให้กระบวนพิจารณาคดีเสร็จโดยเร็วขึ้น

คดีผู้บริโภค คือ คดีลักษณะใด

คดีลักษณะใด เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า “คดีผู้บริโภค หมายความว่า

  1. คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
  2. คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย
  3. คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีตามข้อ 1 หรือ ข้อ 2
  4. คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้”

ผู้บริโภค” หมายความว่า “ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค แลให้หมายความรวมไปถึงผู้เสียหายตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย”

ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า “ผู้ประกอบธูรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัยด้วย”

หลักสำคัญ คือ คู่ความในคดีผู้บริโภค จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ เช่น สมาคมหรือมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค หรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้า ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับอื่นๆ มีอำนาจเป็นโจทก์ ฟ้องผู้กระทำละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยส่วนรวมแทนผู้บริโภคทั้งทางแพ่งและอาญาได้ คู่ความต้องเป็นผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ตามมาตรา 1 หรือ กฎหมายอื่น และอีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นผู้ประกอบกิจหรือบริการ โดยฝ่ายใดจะเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ได้ ดังนั้น คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค หรือคดีแพ่งระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจจึงไม่ใช่คดีผู้บริโภค รวมทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวกับคดีอาญาที่ไม่ได้แยกมาดำเนินคดีต่างหากจากคดีอาญาจึงไม่ใช่คดีผู้บริโภค เช่นเดียวกัน

ในกรณีที่ไม่แน่ชัดว่าเป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ อำนาจการวินิจฉัยคดีเป็นอำนาจของประธานศาลอุทธรณ์

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ความว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบถึงกระบวนการพิารณาใดๆ ที่ได้กระทำไปก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย”

การขอให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย คู่ความเป็นผู้ขอ หรือศาลเห็นควรส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ แต่ต้องขออย่างช้าในวันพิจารณา กรณีเป็นคดีผู้บริโภค หากเป็นคดีแพ่งสามัญก็ต้องขออย่างช้าในวันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ในกรณีไม่มีการชี้สองสถาน เช่น คำว่า “บริการ” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 หมายความว่า “การรับจัดทำการงาน การให้สิทธิ์ใดๆ หรือการให้ใช้หรือให้เป็นประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงาน”

การได้ใช้นำประปาหรือประแสไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ตามมสัญญา ถือว่าเป็นการซื้อบริการ ไม่ใช่ซื้อสินค้า การบริการอาจมีทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้อง เข่น เช่าบ้าน หอพัก เช่าซื้อรถยนต์ รับขนสินค้า ฯลฯ หรือไม่มีทรัพย์สิน เช่น การให้การศึกษา (คำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ที่ 28/2542) หรือการให้คำปรึกษาในการก่อสร้างอาคาร

การบริการ เช่น การขายลดเช็ค (คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ที่ 48/2552) การให้สินเชื่อบัตรเครดิต (คำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ ที่ 3/2551) การประกันชีวิต (คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ที่ 8/2552)

ขอยกตัวอย่างกรณีการใช้บริการ การกู้ยืมเงิน (คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ที่ 1/2551, 18/2552) ถือว่าเป็นคดีผู้บริโภคตามคำวินิจฉัยจองประธานศาลอุทธรณ์ หากผู้ให้บริการทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือเอาเปรียบผู้บริโภค เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราสัญญาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ก็ถือว่าเป็นคดีผู้บริโภค

พระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

แต่ถ้าหากเป็นการทวงถามหนี้ที่เป็นการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์ของลูกหนี้ หรือผู้อื่นทวงถามหนี้นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด การใช้ว่าจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ หรือผู้อื่น และไม่ได้จดทะเบียนขอรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ตาม พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 แต่ไปทำการทวงถามหนี้เป็นปกติธุระ หรือมีอาชีพทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย หรืออ้างว่ามีอาชีพเป็นทนายความ หรือทวงหนี้ในนามสำนักงานทนายความ โดยตนเองไม่ได้เป็นทนายความ ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการทวงถามหนี้นอกระบบก็ตาม บุคคลนั้นมีความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่มีประโยชน์กับลูกหนี้เงินกู้เป็นอย่างมาก

ฉะนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทวงถามหนี้ข้างต้น สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือหน่วยงานที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.นี้ ดำเนินคดีในความผิดอาญาต่อผู้ที่กระทำการดังกล่าวได้ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้มาตรการทางอาญาในการปราบปรามนายทุนเงินกู้หนึ้เลือด ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยวิธีการทวงถามหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ทำให้ผู้กู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ ชื่อเสียง เสรีภาพ ฯลฯ ถือเป็นความก้าวหน้าของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับการปกป้องสิทธิต่างๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย โดยรัฐยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ถือเป็นมาตรการที่เป็นคุณต่อประชาชนที่มีฐานะยากาจนและจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินมาใช้เพื่อความอยู่รอดและเยียวยาความเดือดร้อนทางการเงินในครอบครัว ถือเป็นกฎหมายที่ดีและเป็นคุณต่อผู้ด้อยโอกาสและบุคคลที่มีฐานะยากจนเป็นอย่างยิ่ง แม้จะเป็นกฎหมายที่ตราโดยรัฐบาลที่ปกครองประเทศโดยรัฐประหารก็ตาม…

“แพรวด้วยความรู้ พราวด้วยประสบการณ์”

ใส่ความเห็น