โดย : ศุภพิชัย แอกทอง กรรมการโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
“สิทธิประโยน์ สวัสดิการของลูกจ้าง นายจ้าง ควรรู้อะไร ?”
กฎหมายคุ้มครองแรงงานมีขึ้นก็เพื่อต้องการช่วยเหลือลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ปัจจุบันนายจ้างมีตัวเลือกไม่ค่อยง้อลูกจ้าง กฎหมายเลยต้องบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างด้วยความเป็นธรรม เรื่องหลักๆ เช่น การกำหนดค่าจ้าง วันหยุด วันลา เวลาทำงาน ตลอดจนการเลิกจ้าง ค่าชดเชย ค่าเรียกร้องค่าเสียหาย
เรามาพูดถึง “ลูกจ้างทดลองงาน” เมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้าง มีสิทธิเรียกร้องเงินอะไร? ได้บ้าง นายจ้างมักจะกำหนดระยะเวลาทดลองงานเอาไว้แค่ 119 วัน แทนที่จะเป็น 120 วัน หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างในระยะเวลาทดลองงาน นายจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และเงินอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
ลูกจ้างทดทองงาน คุณมีสิทธิตามกฎหมายแรงงานเหมือนกับพนักงานคนอื่นๆ ทุกประการ ยกเว้น คือ สิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นั้นก็เพราะว่า ช่วงเวลาการทดลองงานมีไว้ก็เพื่อให้นายจ้างได้ทดลองความรู้ ความสามารถด้านทักษะ ลูกจ้างขยันหรือไม่ อู้งานหรือเปล่า ไม่สาย ไม่ขาด ไม่ลา ลาป่วยมากน้อยหรือไม่ หากนายจ้างประเมินผลงานแล้ว ไม่พอใจการทำงาน ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยชอบธรรม (หากไม่ใช่การจงใจกลั่นแกล้งกัน) ซึ่งในกรณีที่เราถูกเลิกจ้างเพราะสาเหตุดังกล่าวนั้น เราก็จะไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้าง ส่วนสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย เช่น ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินอื่นๆ เช่น เงินโบนัส ที่นายจ้างกำหนดไว้ทั้งหมดเหล่านี้ คุณมีสิทธิได้รับโดยครบถ้วนทุกประกา
สิทธิตามกฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างควรรู้
ค่าชดเชย นี้ถือเป็นหัวใจของกฎหมายแรงงาน หากนายจ้างเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่มีความผิดดังต่อไปนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง
- ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งของนายจ้าง
- ละทิ้งหน้าที่การงานเป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่
- ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นเหตุให้นายจ้างได้คับความเสียหาย
สิ่งที่ควรรู้
หากคุณประสงค์ลาออกเอง นายจ้างเขาไม่มีหน้าที่ที่ต้องจ่ายเงินทั้งหลายเหล่านี้ให้คุณแต่อย่างใด
เงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง
จะเห็นได้ว่า ถ้าเราทำงานมาแค่ 119 วัน ยังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้เรา นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมนายจ้างถึงมักกำหนดระยะเวลา “ทดลองงาน” ไว้ 119 วัน
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
กฎหมายกำหนดว่า นายจ้างจะให้การเลิกจ้างมีผลทันทีก็ได้ แต่จะต้องจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างที่ต้องจ่าย จนกว่าจะถึงวันครบกำหนด คือ หากลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างถึงวันครบกำหนดเท่าใด นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้เท่านั้น
ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้
กฎหมายกำหนดไว้ กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง หากปรากฏว่าลูกจ้างยังมีวันลาพักร้อนเหลืออยู่ในปีดังกล่าวเท่าไร นายจ้างก็จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันลาพักร้อนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้
สิทธิประโยชน์ หรือเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามสัญญาจ้าง
หากมีการตกลงที่เป็นการใช้สิทธิ ลูกจ้างก็ย่อมมีสิทธิได้รับ เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินโบนัสประจำปี
ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
นายจ้างทั้งหลายที่ชอบเอาเปรียบลูกจ้าง จากกรณีการเลิกจ้าง หาใช่ว่าจะทำได้ตามอำเภอใจ ต้องดูด้วยว่าการเลิกจ้างนั้นมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ เป็นธรรมต่อลูกจ้างหรือไม่
กฎหมายกำหนดว่า “หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่จะต้องจ่าย นายจ้างต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ของทุกๆ 7 วัน และถ้าหากนายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.5 ของทุก 15 วัน”
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างและนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
1. มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค้าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค้าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย สำหรับลูกจากซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมไปถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสาม จะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
2. มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับใช้ได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมตวร
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ในกรณีข้อ 6 ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
สิ่งที่ควรรู้
สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานของลูกจ้างยังมีหลายประการที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิ อาทิ เช่น ได้รับการทำประกันสังคม มาตรา 33 ตามกฎหมายแรงงาน ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ลาคลอด ได้รับเงินกองทุนเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานตามสัญญาจ้าง และได้รับสวัสดิการอื่นๆ อีกด้วย
“แพรวด้วยความรู้ พราวด้วยประสบการณ์”