สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดย : ดร.วิเชียร รจิธำรงกุล กรรมการโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
การรับรองสิทธิเสรีภาพไว้อย่างกว้าง (มาตรา 25)
สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิดได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านี้น ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
การกล่าวอ้างสิทธิและเสรีภาพ (มาตรา 25)
สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติหรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับบุคคลหรือชุมชน ย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนี้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต้อสู้คดีในศาลได้ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย (มาตรา 28)
บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิด้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้
สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายอาญาย้อนหลัง (มาตรา 29)
บุคคลจะต้องได้รับโทษในทางอาญาต้องเป็นการกระทำความผิดในขณะกระทำนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย หากขณะกระทำนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด จะถือว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดอาญาหาได้ไม่ และเมื่อมีการบัญญัติกฎหมาย ให้กระทำเป็นความผิดในภายหลังจากการกระทำนั้น ก็ไม่อาจนำกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังนั้นไปใช้บังคับย้อนหลังหาได้ไม่ เนื่องจากขณะกระทำการนั้น ยังไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้ให้เป็นความผิด
สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานในคดีอาญาไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ในคดีอาญา ให้สินนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนศาลมีคำพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และจะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้ คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกิดควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ได้วางหลักไว้ว่า “การสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
- ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
- การปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล”
สิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด อันถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาสากลที่ว่า บุคคลทุกคนมิใช่ผู้กระทำความผิดอาญา เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความผิดทางอาญา ที่รัฐให้การรับรองแก่บุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญา จนกว่าจะมีพยายหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด และเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่ได้รับการยอมรับในนานาอารยประเทศ
เสรีภาพในการนับถือศาสนา (มาตรา 31)
เสรีภาพในการนับถือศาสนามีการรับรองและคุ้มครองไว้อย่างสมบูรณ์ คือจำกัดเสรีภาพไม่ได้ รวมถึงเสรีภาพในการไม่นับถือศาสนาด้วย แต่การรับรองโดยสมบูรณ์นี้ ไม่รวมถึงการแสดงออกด้วย ดังนั้น การแสดงออกซึ่งความเชื่อในทางศาสนา ย่อมถูกจำกัดเสรีภาพได้โดยกฎหมาย เสรีภาพในการนับถือศาสนา ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
สิทธิส่วนบุคคล (มาตรา 32)
สิทธิส่วนบุคคล คือ สิทธิประจำตัวของบุคคลอันประกอบด้วยเสรีภาพในร่างกาย การดำรงชีวิต มีความเป็นส่วนตัว ความเป็นอยู่ส่วนบุคคล คือ สถานะที่บุคคลจะรอดพ้นจากการสังเกตการรู้เห็น การสืบความลับ การรบกวนต่างๆ และมีความสันโดษ การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าในทางใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
เสรีภาพในเคหสถาน (มาตรา 33)
บุคคลย่อมมีเสรีภรพในเคหสถาน การเข้าไปในเคหสถาน โดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการค้นเคหสถาน หรือที่รโหฐาน จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (มาตรา 34)
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อควาวมหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อ :
- รักษาความมั่นคงของรัฐ
- คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
- รักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- ป้องกันสุขภาพของประชาชน เสรีภาพของผู้สอนหรือผู้เรียน ในการจะถือเอาและแสดงออกซึ่งความคิดเห็น โดยปราศจากความหวาดกลัวต่อการแทรกแซงตามอำเภอใจโดยทางราชการ
การใช้เสรีภาพทางวิชาการนั้น ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น สิทธิในทรัพทย์สิน ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อ :
- การอันเป็นสาธารณูปโภค
- การป้องกันประเทศ
- การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ
- ประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควร ทั้งนี้ การเวนคืนจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบต่อผู้ถูกเวนคืน และกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง เมื่อเวนคืนแล้วไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่เวนคืน ต้องคืนทรัพย์นั้นแก่เจ้าของหรือทายาท
เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่
การจำกัดเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ :
- อาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อ
- ความมั่นคงของรัฐ
- ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน
- การผังเมือง
- เพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัว
- เพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์
การห้ามเนรเทศบุคคลสัญชาติไทย
การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้ การถอนสัญชาติของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้
เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่
- อาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อ
- รักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ
- การแข่งขันอย่างเป็นธรรม
- การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด
- การคุ้มครองผู้บริโภค
- การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น
การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา
2. เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
สิทธิในข้อมูลข่าวสาร การร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ และการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ
- สิทธิในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
- สิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว
- สิทธิในการฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำ หรือละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ
เสรีภาพในการรวมกลุ่ม
บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพองค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น การจำกัดเสรีภาพในการรวมกลุ่ม จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เพื่อ
- คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
- รักษาความสงบสุข หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- การป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด
สิทธิอนุรักษ์ฯ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เข้าชื่อเสนอแนะ และจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน
- บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ
- บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ์ในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
- บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใด อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนหรืองดเว้นการดำเนินการใด อันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และด้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยเร็ว ทั้งนี้ ในการพิจารณาต้องให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณา
- บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จะกระทำมิได้ เว้นแต่
- อาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เพื่อ
- รักษาความมั่นคงแห่งรัฐ
- ความปลอดภัยสาธารณะ
- ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
เสรีภาพตั้งพรรคการเมือง
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายที่บัญญัติอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้
สิทธิรับบริการสาธารณสุข
บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สิทธิของมาดาที่ตั้งครรภ์
มารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังคลอด การคลอดบุตรย่อมได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ
สิทธิคนชราและผู้ยากไร้
บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพและบุคคลผู้ยากไร้ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
การห้ามใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะกระทำมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำ ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
บทสรุป
สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่ได้รับการคุ้มครอบโดยรัฐธรรมนูญนั้น การคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนนับเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพเอาไว้ แต่การละเมิดสิทธิและเสรีภาพยังมีอยู่เป็นประจำ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา และความเข้าใจในเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญยังไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นในหมู่ของประชาชนด้วยกัน หรือระหว่างรัฐกับประชาชน
ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงได้สร้างกลไกในการตรวจสอบและเยียวยาเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม บัญญัติให้ “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”…
“แพรวด้วยความรู้ พราวด้วยประสบการณ์”