pin up1 winaviator mostbetpinup casino1 winmostbet kzmosbet casinoaviatorlucky jet1 winpin up casino india1win slotlucky jet casinopinup az4r betmosbet indiamosbet aviatormostbet casino1win kz1 win4rabet indiapin-up kzmosbetmosbet1 win1win1win aviatorpin upparimatchlucky jet4rabetмостбет1win loginpin up 777mostbet1 вин авиаторpin uplucky jet1 winpin up4rabetpinupmosbet1 winmostbet azluckygetmostbetmosbetmostbet casino1wınparimatch

เจ้าหนี้ปฏิเสธลูกหนี้ ?

ทางแก้เมื่อเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระจากลูกหนี้

โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัช วงศ์สิงห์ กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3

ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยจะทราบเรื่อง “การวางทรัพย์” เท่าใดนัก ทั้งที่เรื่องวางทรัพย์นี้ มีความสำคัญต่อเรื่องหนี้สินและทรัพย์สินของประชาชนพอสมควร

ในฐานะที่เป็นทนายความ ผู้เขียนมักจะมีลูกความมาปรึกษาอยู่เนืองๆ ว่า ได้ไปหาเจ้าหนี้เพื่อขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่อยู่บ้าน หรือไม่ยอมรับชำระหนี้ และในวันดังกล่าวเป็นวันสุดท้ายท่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาพอดี ทำให้ต้องเสียทรัพย์สินไปเพราะเหตุที่เป็นฝ่ายผิดสัญญา บางรายไม่มีทางออก ก็ได้แต่นั่งคอยเจ้าหนี้หรือนายทุนอยู่หน้าบ้าน เจ้าหนี้ก็ยังไม่มาเสียที จนมาทราบภายหลังว่า เจ้าหนี้มีเจตนาที่จะหลบลูกหนี้ไปต่างประเทศ เพื่อที่จะให้ลูกหนี้ผิดสัญญา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ลูกหนี้มาจำนองหรือได้ขายฝากไว้หลุดมาเป็นของตน เจ้าหนี้พวกนี้เป็นพวกใจดำอำมหิต ทำนาบนหลังคน และเห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ได้ประโยชน์ ได้ดอกเบี้ยอัตราสูงแล้ว ยังมาเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้เขาอีก สมควรถูกพระแม่ธรณีสูบ

ปัญหาข้างต้นนี้ มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างที่จะต้องร่วมกันแก้ไข จึงใคร่ขอยกเรื่อง “การวางทรัพย์” เพื่อเป็นทางแก้ในกรณีที่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้จากลูกหนี้ อันเป็นสาเหตุให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ หรือผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้โดยเด็ดขาด เช่น ในกรณีการขายฝาก ซึ่งหากลูกหนี้ผู้ขายฝากไม่นำสินไถ่ไปไถ่ทรัพย์สินคืนจากเจ้าหนี้ ผู้รับซื้อฝากภายในกำหนด ก็จะเป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้และไม่มีสิทธิ์ที่จะไถ่คืนได้อีกต่อไป

ลูกหนี้บางรายได้ขายฝากที่ดินไว้กับเจ้าหนี้ในราคาเพียง 50,000 บาท แต่ราคาที่ดินผืนที่ขายฝากนั้นมีราคาถึง 2,000,000 บาท แต่ต่อมาผู้ขายฝากไม่ไปไถ่ถอนหรือไม่ไปวางทรัพย์ตามกำหนดเวลาเพราะเหตุรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ผู้รับซื้อฝากโดยสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ถอนหรือล่วงเลยเวลาไถ่ถอนที่ดินที่ขายฝากแล้ว หากผู้ขายฝากต้องการที่ดินคืน ก็ต้องขอซื้อจากเจ้าหนี้ผู้รับซื้อฝาก ซึ่งเจ้าหนี้มักจะมีการโก่งราคาโดยจะขายคืนให้ในราคาที่สูงมาก หรือก็จะปฏิเสธไม่ยอมขายคืนให้

เพื่อเป็นการป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบกัน จึงขอนำเสนอทางแก้ “ทางแก้เมื่อเจ้าหนี้ปฏิเสธ ไม่ยอมรับชำระหนี้จากลูกหนี้” ใน 9 ประเด็น ดังต่อไปนี้

1. ข้อกฎหมาย

“การวางทรัพย์” ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 330 – 334 และมาตรา 492 ซึ่งพอสรุปรวมความได้ว่า

“ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ดี หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุหลุดพ้นจากหนี้ได้”

ความข้อนี้ ให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลที่ชำระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอน โดยมิใช่เป็นความผิดของตน

ถ้าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้ ต่อเมื่อเจ้าหนี้จะต้องชำระหนี้ตอบแทนด้วยไซร้ หากว่าลูกหนี้จะกำหนดว่าต่อเมื่อเจ้าหนี้ชำระหนี้ตอบแทน จึงมีสิทธิรับเอาทรัพย์ที่วางไว้นั้นได้

ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้เจ้าหนี้ผู้ซื้อฝากหรือผู้รับไถ่ทราบถึงการที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน หากผู้วางทรัพย์ได้วางทรัพย์สินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่ โดยสละสิทธิที่จะถอนทรัพย์ที่วางไว้”

2. สถานที่วางทรัพย์

ในการวางทรัพย์ต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ที่มีมูลพิพาทเกี่ยวกับการที่ต้องวางทรัพย์สินนั้น เช่น ทำสัญญาขายฝากกันที่จังหวัดอุบลราชธานี จะต้องไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดอุบลราชธานี

3. มูลเหตุที่จะต้องวางทรัพย์ และข้อควรระวัง

ลูกหนี้อาจถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ตามสัญญาขายฝาก ในกรณีที่ลูกหนี้ (ผู้ขายฝาก) ได้นำสินไถ่ไปไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาแล้ว หรือไปวันสุดท้าของกำหนดเวลาที่ผู้ขายฝากมีสิทธิ์ในการไถ่ทรัพย์สินคืนแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่อาจชำระหนี้หรือสินไถ่ได้ หรือในการที่ลูกหนี้ไปชำระหนี้อื่น แต่มีเหตุที่ไม่อาจชำระหนี้ได้ใน 4 กรณี ดังนี้

3.1 เจ้าหนี้ผู้รับซื้อฝากบอกปัด หรือบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับชำระหนี้หรือสินไถ่

3.2 เจ้าหนี้ผู้รับซื้อฝาก ไม่สามารถรับชำระหนี้หรือสินไถ่ได้ เนื่องจากเจ้าหนี้หรือผู้รับซื้อฝากไม่อยู่ หรือไปต่างประเทศ และไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อใด

3.3 เจ้าหนี้ผู้รับซื้อฝากตาย หรือในกรณีที่ลูกหนี้ผู้ขายฝากไม่อาจทราบว่าบุคคลที่เป็นทายาทผู้มีหน้าที่รับเอาสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก

3.4 เจ้าหนี้มีกลอุบายไม่ยอมรับชำระหนี้ หรือสินไถ่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้หรือสินไถ่พ้นกำหนด เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ลูกหนี้หรือผู้ขายฝากมีสิทธิ์ไถ่ เช่น ผู้รับซื้อฝากบอกกับผู้ขายฝากว่ามีเงินเมื่อใดค่อยมาไถ่คืนก็ได้ หรือแสร้งทำเป็นเจ้าหนี้ผู้มีใจดีมีจิตกุศลว่า ยังไม่ประสงค์จะรับชำระหนี้ ให้ลูกหนี้นำเงินนั้นไปใช้จ่ายเรื่องที่จำเป็นในครอบครัวก่อนก็ได้ หรือรับปากว่าจะขยายเวลาไถ่คืนทรัพย์สินที่ขายฝากให้ เป็นต้น

หากพบกรณีดังกล่าวมาข้างต้น ขอให้รีบไปดำเนินการวางทรัพย์หรือสินไถ่ต่อสำนักงานบังคับคดีที่มูลหนี้พิพทาทเกิดขึ้น

ข้อควรระวัง คือ ท่านจะต้องไปดำเนินการก่อนหรือภายในกำหนดที่จะต้องไถ่ ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ขายฝากที่ดินมีกำหนดไถ่คืนภายในกำหนด 1 ปี สมมติกรณีว่า วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นวันครบกำหนด ท่านจะต้องไปวางทรัพย์ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยไม่จำเป็นต้องรองไปดำเนินกรในวันสุดท้าย

4. ทรัพย์สินที่จะวางทรัพย์

ในกรณีทรัพย์ที่วางเป็นเงิน เช่น สินไถ่ขายฝาก หนี้เงินกู้ หนี้ค่าเช่าบ้าน ควรวางด้วยเงินสด แต่ถ้าเป็นหนี้อื่นๆ จะวางด้วยเช็คทุกชนิดก็ได้ แต่ถ้าหากจะให้มีผลสมบูรณ์ในวันที่วางทรัพย์ ควรวางด้วยเงินสด

5. ผู้มีสิทธิวางทรัพย์

ผู้ที่จะวางทรัพย์ได้ คือ ตัวผู้เป็นลูกหนี้เอง หรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากลูกหนี้ ตลอดจนบุคคลภายนอกที่เต็มใจชำระหนี้แทนลูกหนี้ เว้นแต่ โดยสภาพของหนี้ที่จะชำระนั้น ไม่อาจให้บุคคลภายนอกชำหระหนี้แทนได้

6. เงินประกันค่าใช้จ่าย

ลูกหนี้ผู้วางทรัพย์หรือผู้ได้รับมอบอำนาจวางทรัพย์ มีหน้าที่จะต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบที่กำหนด เพื่อให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งเจ้าหนี้ให้ทราบโดยพลัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 492 วรรคสอง)

7. หน้าที่ของลูกหนี้ผู้วางทรัพย์หรือตัวแทน

กรณีทรัพย์ที่วางเป็นอสังหาริมทรัพย์ ลูกหนี้ผู้วางทรัพย์ฯ จะต้องนำเจ้าพนักงานไปตรวจสอบทรัพย์นั้นด้วย และยังต้องมีหน้าที่มาให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานถึงที่มาแห่งข้อมูลหนี้ที่เกิดขึ้นและปัญหาต่างๆ ตามกำหนดนัดของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่

8. ปัญหาในทางปฏิบัติ

ผู้วางทรัพย์ที่ยังไม่เคยดำเนินการอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งถ้าหากดำเนินการเองไม่ได้ ก็ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ หรืออาจจะมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการแทนในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจ ก็จะได้รับความสะดวกกว่า ในกรณีนี้ อาจมีค่าวิชาชีพทนายความบ้างตามสมควร

9. ผลของการวางทรัพย์

9.1 ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ที่ต้องชำระ ไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ หลังจากวันที่ลูกหนี้หรือตัวแทนลูกหนี้วางทรัพย์

9.2 เจ้าหนี้มีสิทธิ์ที่จะมารับเอาทรัพย์ที่วาง ภายใน 11 ปี นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์ หากเจ้าหนี้ไม่มารับทรัพย์ที่วาง สิทธิเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางนั้น ก็เป็นอันระงับไป

9.3 กรณีวางทรัพย์ (ตามปกติจะเป็นเงินสด) ซึ่งเป็นสินไถ่ตามสัญญาขายฝาก หากว่าเจ้าหนี้ผู้รับซื้อฝากปฏิเสธไม่ยอมรับสินไถ่ หรือ กรณีเจ้าหนี้ไม่อยู่ ถ้าลูกหนี้ผู้ขายฝาก ได้มาใช้สิทธิ์วางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาที่มีสิทธิ์ไถ่ถอนทรัพย์สินที่ขายฝาก ก็ถือว่าลูกหนี้ผู้ขายฝากได้ทำการไถ่ถอนทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นแล้ว นับแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้วแต่กรณี (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตตรา 492 วรรคแรก)

บทความนี้ ประสงค์จะให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม “การวางทรัพย์” จึงเป็นทางแก้ ในกรณีที่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ไม่เสียสิทธิตามกฎหมาย หากท่านไม่เข้าใจหรือมีความรู้ไม่เพียงพอ ขอให้ปรึกษาทนายความก่อน มิฉะนั้น ท่านอาจต้องมานั่งเสียอกเสียใจในภายหลังนะครับ…

“แพรวด้วยความรู้ พราวด้วยประสบการณ์”

ใส่ความเห็น