pin up1 winaviator mostbetpinup casino1 winmostbet kzmosbet casinoaviatorlucky jet1 winpin up casino india1win slotlucky jet casinopinup az4r betmosbet indiamosbet aviatormostbet casino1win kz1 win4rabet indiapin-up kzmosbetmosbet1 win1win1win aviatorpin upparimatchlucky jet4rabetмостбет1win loginpin up 777mostbet1 вин авиаторpin uplucky jet1 winpin up4rabetpinupmosbet1 winmostbet azluckygetmostbetmosbetmostbet casino1wınparimatch

พระจักขุบาลเถระ

คติธรรมจากเรื่องพระจักขุบาลเถระ [1]

พระอรหันต์ตาบอด ผู้ทุ่มเทปฏิบัติสมณธรรมด้วยความยากลำบาก แต่บรรลุธรรมได้ช้า

คำพูดที่ว่า “ถึงงานเบา ใจไม่เอา มันก็หนัก  ถึงงานหนัก ถ้าใจรัก มันก็เบา”  คำๆ นี้ เชื่อเหลือเกินว่าคงเป็นคำพูดที่ช่วยสะกิดสะเกาใจของใครหลายๆ คน ให้หยุดคิดตาม และทบทวนถึงเหตุผลและความหมาย เมื่อครั้งแรกได้ยิน หรือได้อ่านอย่างแน่นอน  เพราะทำให้เราได้พิจารณาเห็นว่า โลกใบนี้จะเจริญขึ้น เสื่อมลง คงที่ หรือจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับใจของคนเรานี่เองที่เป็นตัวกำหนด ซึ่งคำว่า “โลก” ในที่นี้ อาจหมายความได้ถึงทั้งโลกที่เป็นดาวเคราะห์ดวงนี้ก็ได้ หมายถึงหมู่ประชากรในโลกนี้ก็ได้ หรือจะหมายถึงจิต ความรู้สึกนึกคิด และทัศนคติที่คนๆ หนึ่งมีต่อสรรพสิ่งรอบตัวก็ได้

โลกถูกจิตนำไป

มีพระพุทธพจน์ยืนยันข้อความข้างต้นได้อย่างชัดแจ้งอยู่ข้อหนึ่งว่า “จิตเตน นียติ โลโก”[2] แปลเป็นภาษาไทยว่า “โลกถูกจิตนำไป”, “สรรพสิ่งถูกจิตนำไป” หรือ “สัตว์โลกถูกจิตนำไป”หมายความว่า โลกใบนี้ สรรพสัตว์ในโลกใบนี้ ทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่หมุนเวียนไป ดำเนินไป หรือเป็นไป ตามตามที่จิตบงการ หรือจิตดลบันดาลให้เกิดขึ้น พระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับจิตเป็นอย่างมาก จนบางทีพระพุทธศาสนาก็ถูกให้นิยามเรียกขานจากหมู่นักปรัชญาศาสนาว่า เป็นศาสนาแห่ง “จิตนิยม” คือให้ความสำคัญกับจิตภาพมาก่อนกายภาพเสมอ หรือพูดเป็นภาษาให้คนยุคใหม่เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมาเป็นลำดับแรก ให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายมาเป็นสอง เพราะมีหลักคิดอยู่ว่า เมื่อสุขภาพจิตหรือสภาพจิตใจของคนเราดีพร้อมแล้ว ก็จะส่งผลให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีตามมาด้วย ไม่เว้นแม้แต่สุขภาพร่างกาย  ในทางตรงกันข้าม เมื่อคนเรามีสุขภาพจิตหรือสภาพจิตใจย่ำแย่ หม่นหมอง เศร้าสร้อย หดหู่ หมดพลังแล้ว ก็ย่อมที่จะส่งผลถึงสุขภาพร่างกายด้วย และส่งผลทำให้ทุกการกระทำและทุกคำพูด ก็ล้วนแล้วแต่นำความทุกข์ร้อน นำปัญหาและอุปสรรคตามมาให้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น นั่นเป็นเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่ว่ามีสาเหตุมาจาก “จิต” นี้ เพียงตัวเดียว ในครั้งพุทธกาล มีเรื่องราวของพระเถระรูปหนึ่งที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ กล้ากระทำในสิ่งที่คนอื่นกระทำได้ยาก เพื่อให้ได้มาซึ่งความเจริญก้าวหน้าในสมณธรรม เป็นที่กล่าวขานกันมาจนถึงบัดนี้ เรื่องราวความเป็นมาของพระเถระรูปนั้น ดังต่อไปนี้

เศรษฐีขอบุตร

ในเมืองสาวัตถี มีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อว่า “มหาสุวรรณ” เป็นคนร่ำรวยด้วยสมบัติทรัพย์สินเงินทองข้าทาสบริวารมากมาย แต่ไม่มีบุตร วันหนึ่งในระหว่างที่เดินทางกลับมาจากท่าอาบน้ำ มองเห็นต้นไม้ต้นใหญ่ต้นหนึ่ง มีลำต้นสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาแน่นครึ้ม ก็สัมผัสได้ทันทีว่า ต้นไม้นี้น่าจะมีเทวดาสิงสถิตอยู่อย่างแน่นอน  จึงสั่งให้คนงานแผ้วถางทำความสะอาดภายใต้ต้นไม่ใหญ่ต้นนั้น ให้เกลี่ยทรายทั่วบริเวณ ล้อมรั้ว ให้ปักริ้วธงประดับอย่างสวยงาม ทำการบวงสรวงบูชาเป็นอย่างดีแล้ว บนบานสานกล่าวกับต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นว่า ด้วยผลแห่งการบวงสรวงบูชาเทวดานี้ ขอให้ได้ลูกชายหรือลูกสาวสักคนด้วยเถิด หากได้จริงดังคำขอ ก็จะมาแก้บนด้วยการบวงสรวงบูชาให้อย่างยิ่งใหญ่

ภรรยาเศรษฐีตั้งครรภ์-มีลูกชายถึง 2 คน

ภายหลังต่อมา ภรรยาของเศรษฐีนั้นก็ได้ตั้งครรภ์ขึ้น และได้คลอดบุตรเป็นเด็กทารกเพศชาย มีผิวพรรณวรรณะงดงามผ่องใส น่ารักน่าชังเป็นที่สุด เศรษฐีจึงได้ตั้งชื่อลูกชายว่า “บาล” แปลว่า “ผู้รักษา” เพราะบุตรชายคนนี้ตนได้มาก็เพราะการดูแลรักษาต้นไม้ที่เทวดาสิงสถิตอยู่นั่นเอง  ต่อมาก็ได้บุตรชายอีกคนหนึ่ง ตั้งชื่อให้ว่า “จุลบาล” และตั้งชื่อให้กับบุตรชายคนโตคนก่อนว่า “มหาบาล”

เด็กทั้ง 2 คน เจริญเติบโตโดยลำดับ ก็ได้แต่งานมีครอบครัวกันไปทั้ง 2 คน เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตไปแล้ว พวกญาติผู้ใหญ่ก็ได้แบ่งมรดกให้กับเขาทั้ง 2 คน

เศรษฐีชื่อว่ามหาบาลเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

วันหนึ่ง มหาเศรษฐีชื่อว่า “มหาบาล” เห็นหมู่อริยสาวก พากันถือเครื่องสักการะบูชามีของหอมและดอกไม้เป็นต้น กำลังเดินทางไปวัด จึงสอบถามว่า หมู่คนเป็นจำนวนมากจะไปไหนกันหรือ เมื่อคนเหล่านั้นตอบว่า จะพากันไปฟังธรรม ก็คิดว่า แม้เราเองก็จะลองไปฟังธรรมบ้าง จึงเดินตามคนเหล่านั้นไป เมื่อไปถึงวัดแล้วก็ถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็หาที่นั่งท้ายๆ แถว

ในวันนั้น พระศาสดาทอดพระเนตรอุปนิสัยของมหาเศรษฐีชื่อว่ามหาบาลแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมจึงตรัสอนุปุพพีกถาอันเหมาะควรแก่อุปนิสัยของเขา

เศรษฐีออกบวช

มหาเศรษฐีชื่อว่ามหาบาล เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว จึงคิดอย่างนี้ว่า “บุตรธิดาหรือว่าโภคสมบัติก็ไม่สามารถติดตัวผู้จากไปสู่ปรโลกได้ แม้ร่างกายของคนเรายังเอาไปด้วยไม่ได้เลย จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เป็นฆราวาสครองเรือนต่อไปเล่า เราจะบวชล่ะ” เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลขอบวช เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า “เธอมีญาติผู้ที่เธอจะต้องบอกลาขอบวชบ้างหรือไม่” จึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์มีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระเจ้าข้า” พระศาสดาจึงตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอควรบอกลาเขาเสียก่อน” เขาถวายบังคมพระศาสดาแล้วได้ไปสู่เรือน ให้คนตามน้องชายมาแล้วกล่าวว่า “น้องพี่ ทรัพย์ทุกอย่างที่มีอยู่ในเรือนหลังนี้จงตกเป็นของน้องทั้งหมด พี่ฝากน้องช่วยดูแลทรัพย์สมบัติด้วยนะ” เมื่อน้องชายถามว่า “ก็ พี่ล่ะขอรับ” จึงตอบว่า “พี่จะบวชในสำนักของพระศาสดา” แม้ถูกน้องชายกล่าวอ้อนวอนห้ามแล้วห้ามเล่า ก็ไม่ยอมทำตามคำของน้องชาย ออกบวชแล้ว เรียนพระกรรมฐานเพื่อการปฏิบัติให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์จากสำนักของพระศาสดาแล้ว ชักชวนภิกษุจำนวน 60 รูปแล้ว ออกเดินทางไกลตลอดระยะทาง 120 โยชน์ ลุถึงหมู่บ้านชายแดนหมู่ใหญ่หมู่หนึ่ง จึงเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น พร้อมกับภิกษุบริวาร

ชาวบ้านเลื่อมใสอุปัฏฐากบำรุง

พอพวกชาวบ้านเห็นพระภิกษุผู้มีวัตรปฏิบัติงดงาม จึงเกิดมีจิตเลื่อมใส นิมนต์ให้อยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น ช่วยกันปัดกวาดวัดให้สะอาดสะอ้าน เมื่อเสร็จแล้วจึงได้มอบถวาย ภิกษุทั้งหลายก็พากันเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนั้นเป็นประจำ

หมอปวารณาตัวรักษาพระภิกษุสงฆ์

ครั้งนั้น มีหมอคนหนึ่งเข้าไปหาพวกพระภิกษุแล้ว ปวารณาขอปรุงยาถวายการรักษาภิกษุผู้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ในที่นั้น

พระเถระสมาทานเนสัชชิกังคธุดงค์

ในวันเข้าพรรษา พระเถระเรียกภิกษุเหล่านั้นมาพร้อมกันแล้ว ถามภิกษุแต่ละรูปว่า จะให้ 3 เดือนในฤดูฝนนี้ผ่านไปด้วยอิริยาบถเท่าไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นเรียนท่านว่า “จะให้ 3 เดือนในฤดูฝนนี้ ผ่านไปด้วยอิริยาบถครบทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน” ท่านก็กล่าวว่า “จะเป็นการสมควรหรือที่เราทั้งหลายผู้เรียนกรรมฐานจากสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่กลับประพฤติประมาทเช่นนี้” แล้วบอกการที่ตนจะให้ 3 เดือนในฤดูฝนนี้ล่วงไปด้วยอิริยาบถเพียง 3 อย่างเท่านั้น คือ ยืน เดิน และนั่ง จะไม่ยอมนอนเป็นอันขาด

พระเถระเริ่มมีอาการปวดตา

เมื่อพระเถระไม่ยอมหลับยอมนอนเลย โรคตาก็เกิดขึ้นแก่ท่าน เมื่อเวลาผ่านไปได้เพียงเดือนแรกเท่านั้น น้ำได้ไหลออกจากตาทั้ง 2 ข้างของท่าน ถึงกระนั้น ท่านก็ยังบำเพ็ญสมณธรรมตลอดทั้งคืน ในเวลารุ่งขึ้น ได้เข้าไปนั่งพักในห้องแล้ว

ภิกษุทั้งหลายเข้าไปเรียนท่านในเวลาออกบิณฑบาต ท่านจึงให้ถือบาตและจีวรของท่าน แล้วออกไปบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกภิกษุเห็นน้ำไหลออกจากตาของท่านอยู่ จึงเรียนถามว่า “ท่านเป็นอะไรขอรับ” เมื่อท่านแจ้งสาเหตุนั้นให้ทราบแล้ว จึงเรียนท่านว่าควรรีบบอกแก่หมอผู้ได้ปวารณาไว้แล้ว เพื่อทำการเยียวยารักษาต่อไป

หมอทำการรักษาให้พระเถระ

ภิกษุทั้งหลายจึงได้แจ้งเรื่องนั้นให้หมอทราบแล้ว หมอได้ทำการหุงน้ำมันรักษาส่งไปถวายท่านแล้ว เมื่อพระเถระจะหยอดน้ำมันเข้าที่จมูก ได้นั่งหยอดแล้ว เดินเข้าไปในหมู่บ้าน

พระเถระไม่ให้ความร่วมมือในการักษา

เมื่อหมอเห็นท่านแล้วจึงถามถึงอาการและการหยอดน้ำมันรักษา ท่านตอบหมอไปว่าได้ทำการหยอดยาแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นเลย  หมอเองก็คิดแปลกใจว่า “เราหุงน้ำมันที่สามารถจะรักษาตาให้หายได้ด้วยการหยอดเพียงครั้งเดียวเท่านั้นไปถวายแก่ท่าน ก็เพราะเหตุไรหนอ โรคถึงยังไม่หายสักที” จึงเรียนถามท่านว่าว่า “ท่านนั่งหรือว่านอนหยอดน้ำมัน ขอรับ” พระเถระได้นิ่งเสีย แม้หมอจะซักถามอย่างไร ท่านก็ไม่พูด

หมอคิดว่า “เราจะไปสังเกตดูที่วัดเสียเอง” จึงเดินทางไปที่วัด สำรวจตรวจดูที่พักของพระเถระแล้ว เห็นเพียงเพียงแต่ที่จงกรมและที่นั่งเท่านั้น ไม่เห็นที่นอนเลย จึงเรียนถามท่านว่า “ท่านนั่งหรือว่านอนหยอดน้ำมัน ขอรับ” พระเถระก็ได้นิ่งเสีย หมอได้อ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ขอท่านอย่าได้ทำอย่างนี้เลย ขอรับ ก็ธรรมดาสมณธรรม เมื่อคนเรามีสุขภาพร่างกายยังแข็งแรงอยู่ ก็อาจทำให้บริบูรณ์ได้ ขอท่านได้โปรดนอนหยอดน้ำมันเถิด ขอรับ”

  พระเถระตอบว่า “ไปเถิด อุบาสก อาตมาจะลองปรึกษากับตัวเองดูก่อนแล้ว ถึงจะรู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป” จึงได้สอนตัวของท่านเองให้เห็นแก่พระพุทธศาสนามากว่าจะเห็นแก่ดวงตา

เมื่อพระเถระสอนตนเองอย่างนี้แล้ว ได้นั่งหยอดตาอยู่ เสร็จแล้วจึงเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต  หมอเห็นท่านแล้ว จึงเรียนถามท่านว่า “ท่านได้หยอดตาแล้วหรือยัง ขอรับ” พระเถระตอบว่า “หยอดแล้วล่ะ อุบาสก” หมอเรียนถามว่า “อาการของท่านดีขึ้นแล้วหรือยัง ขอรับ” ท่านตอบหมอว่า “ลมยังเสียดแทงนัยน์ตาอยู่เหมือนเดิมเลย อุบาสก” หมอได้ถามท่านต่อไปว่า “ก็ท่านนั่งหรือว่านอนหยอดเล่า ขอรับ” พระเถระก็ได้นิ่งเสีย แม้หมอถามท่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ท่านก็ไม่พูดอะไร

หมอบอกเลิกการรักษาพระเถระ

เมื่อเป็นเช่นนั้น หมอจึงเรียนท่านว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านไม่เคยให้ความร่วมมือในการรักษากับกระผมเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอท่านอย่าได้กล่าวว่า หมอคนโน้นได้หุงน้ำมันรักษาเรา แม้ตัวกระผมเองก็จะไม่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเคยหุงน้ำมันรักษาท่าน”

พระเถระบรรลุธรรมพร้อมทั้งตาบอด

พระเถระถูกหมอบอกเลิกการให้การรักษาแล้ว กล่าวสอนตนว่า “ดูก่อนปาลิตะ ท่านถูกหมอเขาบอกเลิกจากการรักษา ถูกเขาทอดทิ้งเสียแล้ว อย่างไรเสียก็จะต้องตายแน่แท้ เหตุไฉน ท่านจึงยังประมาทอยู่เล่า” ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมเรื่อยไป จวบจนมัชฌมิยามล่วงไป ทั้งตาและกิเลสของท่านก็แตกพร้อมกัน ได้เป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก[3] เข้าไปนั่งภายในห้องแล้ว

พระภิกษุสงฆ์ทราบเรื่อง

ในเวลาเช้า พวกภิกษุมานิมนต์ให้ท่านไปบิณฑบาต ท่านจึงบอกแก่พวกภิกษุเหล่านั้นว่าตาของท่านได้บอดเสียแล้ว พวกภิกษุเมื่อได้ทราบดังนั้นแล้ว ไม่สามารถจะกลั้นน้ำตาไว้ได้ พากันร้องให้ พลางกล่าวว่า ขอท่านอย่าได้คิดมากเลย พวกกระผมจะพากันดูแลท่านเอง ได้พากันทำวัตรพระเถระแล้วจึงเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เมื่อพวกชาวบ้านไม่เห็นพระเถระมาบิณฑบาต จึงได้ถามว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ วันนี้พระเถระไม่เข้ามาบิณฑบาตด้วยหรือ” พวกภิกษุแจ้งเหตุนั้นแก่พวกชาวบ้านได้ทราบแล้ว

พวกชาวบ้านทราบเรื่อง

พวกชาวบ้านเมื่อทราบความนั้นแล้ว จึงพากันเข้าไปหาพระเถระ เห็นตาของพระเถระบอดแล้ว ไม่อาจจะกลั้นน้ำตาไว้อยู่ พากันร้องไห้กลิ้งเกลือก พลางเรียนพระเถระว่า “ขอท่านอย่าได้หนักใจไปเลย พวกเราจะพาดูแลอุปัฏฐากท่านเอง” แล้วจึงพากันลากลับ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็พากันส่งข้าวต้ม ข้าวสวย และอาหารหวานคาวต่างๆ ไปถวายพระเถระอย่างสม่ำเสมอ พระเถระก็ได้ทำหน้าที่สอนพระภิกษุทั้งหลายจนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาครบทุกรูป

ภิกษุสงฆ์ลาชาวบ้านเพื่อกลับไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ในวันออกพรรษาโดยไม่ได้พาพระเถระไปด้วย

ในวันออกพรรษา ภิกษุทั้งหลายประสงค์จะเข้าเฝ้าพระศาสดา จึงไปเรียนพระเถระ พระเถระเมื่อได้ฟังความนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า “ผมเป็นคนพิการ หากเดินทางไปพร้อมกับพวกท่าน ก็จะพากันลำบากไปหมด และในระหว่างทางก็มีพวกอมนุษย์สิงอยู่ พวกท่านจะไม่ได้แม้กระทั่งอาหารบิณฑบาต ขอพวกท่านจงพากันล่วงหน้าไปก่อนเถิด” เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ก็ตัวท่านเล่าขอรับ จะไม่ไปด้วยกันหรือ” ก็ปฏิเสธที่จะไปกับภิกษุทั้งหลาย แม้ถูกอ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ปฏิเสธทุกครั้งไป แล้วกล่าวว่า “พวกท่านอย่าพากันทำอย่างนี้เลย ถ้าพวกท่านทำแบบนี้ ผมคงไม่สบายใจ น้องชายของผมได้เห็นพวกท่านแล้ว คงจะถามหาผมกะพวกท่าน พวกท่านก็ช่วยบอกแก่น้องชายนั้นเถิด เขาทราบข่าวแล้ว คงจะส่งใครสักคนมารับผมที่นี่ ผมจะไปกับเขาคนนั้น พวกท่านเมื่อไปถึงแล้ว จงไหว้พระทศพลและอสีติมหาสาวกตามคำของผม” แล้วจึงส่งภิกษุเหล่านั้นไป

ฝ่ายพวกชาวบ้าน เมื่อเห็นพวกภิกษุมา จึงได้เรียนถามว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจักพากันไปไหนหรือ” เมื่อพวกภิกษุกล่าวว่า “จะไปเข้าเฝ้าพระศาสดา” จึงพากันอ้อนวอนให้อยู่ต่อ แต่เมื่อไม่อาจจะอ้อนวอนได้ จึงได้แต่ทำใจเดินตามไปส่ง แล้วก็พากันร้องไห้กลับคืนมา

พระภิกษุสงฆ์ถึงเดินทางถึงพระเชตวัน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทำสามีจิกรรมพระอสีติมหาสาวก

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อไปถึงวัดพระเชตวันแล้ว ก็พากันถวายบังคมพระศาสดาและพระมหาเถระทั้งหลายตามคำของพระเถระแล้ว ในวันรุ่งขึ้นจึงได้เข้าไปบิณฑบาตตามถนนใกล้ที่อยู่ของเศรษฐีน้องชายของพระเถระ  เศรษฐีเห็นภิกษุทั้งหลายแล้วก็จำได้ จึงนิมนต์ให้นั่ง ทำปฏิสันถารแล้วถามถึงพระเถระ  ภิกษุทั้งหลายได้แจ้งเรื่องพระเถระให้เศรษฐีผู้น้องชายของท่านทราบแล้ว

เศรษฐีน้องชายได้ฟังข่าวของพระเถระ-ส่งคนไปรับพระเถระ

เศรษฐีพ่อได้ฟังเรื่องราวของพระเถระแล้ว ก็ร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบเท้าของภิกษุทั้งหลาย เรียนถามว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผมควรทำอย่างไรดี ขอรับ” เมื่อภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวว่า “พระเถระต้องการให้มีใครสักคนในที่นี้ไปรับท่านมา” จึงกล่าวว่า “ท่านขอรับ เด็กคนนี้เป็นหลานของผม ชื่อว่าปาลิตะ ขอท่านจงส่งเด็กคนนี้ไปรับพระเถระเถิด” เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “จะให้ส่งไปอย่างนี้ไม่ได้ เพราะในระหว่างทางมีอันตราย ต้องให้เขาบวชเสียก่อนจึงส่งไปได้” จึงกล่าวว่า “ขอท่านจงให้เด็กคนนี้บวชแล้วส่งไปเถิด ขอรับ”

เมื่อภิกษุทั้งหลายบวชให้เด็กคนนั้นแล้ว ให้เขาได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ มีรับจีวรเป็นต้นประมาณครึ่งเดือนแล้ว บอกเส้นทางให้สามเณรทราบแล้วจึงส่งไป.

สามเณรพาพระเถระเดินทางกลับ-ร่ำลาชาวบ้าน

สามเณรเดินทางถึงหมู่บ้านนั้นแล้ว สอบถามทางเข้าไปสู่วัดกับชายคนหนึ่งที่ประตูหมู่บ้าน เมื่อเขาบอกทางให้แล้ว ก็มุ่งหน้าไปสู่วัด ไหว้พระเถระแล้ว ได้ทำวัตรปฏิบัติบำรุงพระเถระเป็นอย่างดี จนเวลาผ่านไปได้ประมาณครึ่งเดือนจึงเรียนท่านว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เศรษฐีผู้เป็นลุงของกระผมต้องการให้นิมนต์ท่านกลับ ขอท่านจงเดินทางกลับไปพร้อมกับกระผมเถิด” พระเถระจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงจับที่ปลายไม้เท้าของเราเถิด” สามเณรจับที่ปลายไม้เท้าแล้วพาพระเถระเข้าไปภายในหมู่บ้านแล้ว

ชาวบ้านเห็นพระเถระแล้ว จึงนิมนต์ให้นั่งแล้ว เรียนถามว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดูเหมือนว่าท่านจะไปอีกแล้วกระมัง” พระเถระจึงตอบว่า “ใช่แล้วล่ะ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย อาตมาจะไปถวายบังคมพระศาสดา” ถูกพวกชาวบ้านอ้อนวอนให้อยู่แล้วโดยวิธีการต่างๆ เมื่อไม่สามารถจะห้ามได้ ก็จำใจเดินทางไปส่งพระเถระได้ครึ่งทางแล้วก็พากันร้องห่มร้องไห้กลับมาอีก

สามเณรถึงศีลวิบัติ

สามเณรจูงพระเถระด้วยไม้เท้า เดินทางไปจนถึงหมู่บ้านสังกัฏฐะ พักอยู่ในดงระหว่างทาง ได้ยินเสียงร้องเพลงของผู้หญิงเก็บฝืนคนหนึ่ง จับทิศทางของเสียงนั้นแล้ว

จริงอยู่ ไม่มีเสียงอื่นที่จะสามารถแผ่ไปทั่วร่างกายของผู้ชายแล้วทำให้ใจของชายหวั่นไหวได้เหมือนเสียงของผู้หญิงนี้เลย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นเสียงอื่นแม้สักอย่างหนึ่งที่สามารถจะครอบงำจิตของผู้ชายไว้ได้เหมือนเสียงของผู้หญิงนี้เลย นะภิกษุทั้งหลาย”

สามเณรกำหนดเสียงนั้นได้แล้ว จึงปล่อยปลายไม้เท้าของพระเถระแล้ว เรียนท่านว่า “ท่านขอรับ ขอท่านรอสักครู่หนึ่ง ผมมีธุระอย่างหนึ่งที่ต้องไปทำ” จึงไปหาหญิงนั้นแล้ว ได้ถึงศีลวิบัติกับหญิงคนนั้นแล้ว

พระเถระคิดว่า “เราได้ยินเสียงผู้หญิงร้องเพลงเมื่อครู่นี้เอง และสามเณรก็ยังชักช้าอยู่ สามเณรคงจะถึงศีลวิวัติเป็นแน่แล้ว”

ฝ่ายสามเณรเมื่อทำกิจของตนเสร็จแล้วก็กลับมา ชวนให้พระเถระเดินทางต่อ พระเถระจึงได้ถามสามเณรว่า “ดูก่อนสามเณร เธอกลายเป็นคนชั่วแล้วหรือ” สามเณรก็นิ่งเสีย แม้พระเถระถามซ้ำ ก็ไม่พูดอะไร พระเถระจึงกล่าวว่า “การที่จะให้คนชั่วเช่นกับเธอจับที่ปลายไม้เท้าของเราไม่ต้องมีอีกต่อไป” สามเณรรู้สึกสลดใจ จึงเปลื้องผ้ากาสายะออกแล้ว นุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อน กระผมเป็นสามเณร แต่เดี๋ยวนี้กระผมเป็นคฤหัสถ์แล้ว อีกอย่าง กระผมก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา ที่กระผมยอมบวชก็เพราะกลัวอันตรายในระหว่างทาง เดินทางกันต่อได้แล้วนะขอรับ”

พระเถระปฏิเสธการไปพร้อมกับสามเณร

พระเถระกล่าวว่า “ดูก่อนสามเณร จะเป็นคฤหัสถ์ชั่วก็ตาม จะเป็นสมณะชั่วก็ตาม ก็ชื่อว่าชั่วด้วยกันทั้งนั้น  เธอแม้ดำรงในเพศสมณะแล้ว ก็ไม่อาจจะรักษาเพียงแค่ศีลให้บริบูรณ์ได้ เมื่อเป็นคฤหัสถ์จะไปประกอบคุณงามความดีอะไรได้ เธอไม่ต้องมาจับที่ปลายไม้เท้าของเราอีกต่อไปแล้ว” เมื่อนายปาลิตะกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในระหว่างทางมีอมนุษย์ และตัวท่านเองก็ตาบอด จะอยู่ที่นี่ได้อย่างไรกัน ขอรับ” จึงกล่าวว่า “เธออย่าได้คิดแบบนั้นเลย ถึงเราจะนอนตายอยู่ที่นี่ หรือจะนอนดิ้นไปมาในที่นี้ เราก็จะไม่ไปกับเธอ” นายปาลิตะได้ยินคำนั้นแล้ว เกิดความสังเวชว่า วิ่งหนีเข้าไปในราวป่าแล้ว

ท้าวสักกะเทวราชจำแลงตนเป็นคนเดินทาง อาสาพาพระเถระไปส่งถึงพระเชตวันโดยใช้เวลาครู่เดียวเท่านั้น

ก็ด้วยเดชแห่งศีลของพระเถระ อาสนะของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนขึ้นแล้ว ทรงทอดพระเนตรเห็นพระเถระด้วยทิพยจักษุ ได้จำแลงกายเป็นคนเดินทางชวนพระเถระเดินทางไปกับพระองค์ด้วย ทรงย่นระยะทาง เพียงครู่เดียวเท่านั้น ได้พาพระเถระลุถึงวัดพระเชตวันในเวลาเย็น นิมนต์พระเถระให้นั่งบนแผ่นกระดานในบรรณศาลาแล้ว จำแลงกายเป็นสหายผู้คุ้นเคยกัน เข้าไปหาเศรษฐีชื่อว่าจุลบาลผู้เป็นน้องชายของพระเถระแล้ว บอกแจ้งการเดินทางมาถึงพระเชตวันของพระเถระแก่เศรษฐี

เศรษฐีผู้น้องชายทราบข่าวการมาของพระเถระ

ฝ่ายเศรษฐีรีบเดินทางไปที่วัด ได้เห็นพระเถระแล้ว ร้องไห้กลิ้งเกลือกอยู่ที่แทบเท้า กล่าวว่า “ท่านขอรับ กระผมได้เห็นเหตุนี้เอง จึงไม่ยอมให้ท่านบวช” แล้วจึงอนุญาตให้บวชเด็กที่เป็นทาสในเรือน 2 คน เป็นสามเณรคอยทำหน้าที่อุปัฏฐากพระเถระ ฝ่ายสามเณรทั้ง 2 ก็ได้ทำวัตรปฏิบัติอุปัฏฐากพระเถระเป็นอย่างดี

ภิกษุอาคันตุกะใคร่อยากเห็นพระเถระ

ภายหลังวันหนึ่ง พวกภิกษุต่างถิ่นเดินทางมาสู่วัดพระเชตวันด้วยหวังว่า “จักเข้าเฝ้าพระศาสดา” ถวายบังคมพระศาสดา เยี่ยมพระอสีติมหาเถระแล้ว เดินเที่ยวชมบริเวณวัด ถึงที่อยู่ของพระจักขุปาลเถระแล้ว ก็บ่ายหน้ามุ่งตรงต่อที่นั้นในเวลาเย็น ด้วยหวังว่า “จักเยี่ยมชมแม้ในสถานที่นี้ด้วย”

ฝนตกหนัก พระเถระเดินจนกรมเหยียบแมงเม่าตายเกลื่อน-พวกพระภิกษุอาคันตุกะต่างพากันตำหนิพระเถระ

ในขณะนั้น ฝนได้ตั้งเค้าแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงคิดว่า “ตอนนี้ก็เย็นมากแล้ว และฝนก็ตั้งเค้าแล้ว ควรที่เราจะมาเยี่ยมชมในเวลาเช้าตรู่ดีกว่าพากันกลับไปแล้ว

ฝนได้ตกในปฐมยาม หยุดแล้วในมัชฌิมยาม พระเถระเป็นผู้ปรารภความเพียร เคยเดินจงกรมอยู่เป็นนิตย์ จึงไปสู่ที่จงกรมเพื่อเดินจงกรมในปัจฉิมยาม

ก็ในเวลานั้น แมงเม่าเป็นจำนวนมากก็ได้ขึ้นมาบนพื้นที่ฝนตกใหม่ๆ  เมื่อพระเถระกำลังเดินจงกรมอยู่ แมงเม่าเหล่านั้นก็ได้ตายแล้วเป็นจำนวนมาก และพวกอันเตวาสิกยังไม่ทันกวาดที่จงกรมของพระเถระในเวลาเช้า เหล่าภิกษุผู้เที่ยวชมบริเวณวัดเมื่อวันวาน ก็พากันมาแล้วด้วยตั้งใจว่า “จะเยี่ยมชมอยู่ของพระเถระ” เห็นซากแมงเม่าตายในที่จงกรมแล้ว จึงถามว่า “ใครเดินจงกรมอยู่ในที่นี้” เมื่อพวกอันเตวาสิกของพระเถระตอบว่า “อุปัชฌาย์ของพวกกระผม ขอรับ” ก็พากันติเตียนว่า “ท่านทั้งหลายจงดูการกระทำของสมณะเถิด ในเวลาที่ตาท่านยังดีอยู่  ท่านก็นอนหลับเสีย ไม่ยอมทำอะไร  ในเวลาที่ตาบอดแล้ว กลับมาขยันเดินจงกรม ทำสัตว์มีประมาณถึงเพียงนี้ให้ตายแล้ว ท่านคิดอยากทำประโยชน์ แต่กลับทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์เสียนี่” จึงพากันไปกราบทูลพระตถาคต  ในตอนนั้นเองว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระจักขุปาลเถระทำเป็นขยันเดินจงกรม ทำสัตว์มีชีวิตเป็นอันมากให้ตายแล้ว”

พระพุทธเจ้าทรงแก้ต่างให้พระเถระ

พระศาสดาตรัสถามว่า “ก็พวกเธอเห็นจักขุบาลนั้น กำลังทำสัตว์มีชีวิตเป็นอันมากให้ตายแล้วด้วยตาของพวกเธอเองเลยหรือ” เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ไม่ได้เห็น พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “พวกเธอไม่ได้เห็นจักขุบาลนั้นทำอยู่ฉันใด ถึงจักขุบาลนั้นก็ไม่เห็นสัตว์มีชีวิตเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าเจตนาเป็นเหตุให้สัตว์อื่นต้องตายของพระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่มี” เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่ออุปนิสัยแห่งพระอรหันต์มีอยู่ เหตุไฉน ท่านจึงกลายเป็นคนตาบอดเล่า” เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “จักขุบาลนั้น ได้กลายเป็นคนตาบอดแล้ว ก็ด้วยอำนาจแห่งกรรมที่ตนทำไว้แล้วนั่นเอง ภิกษุทั้งหลาย” เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ท่านพระจักขุบาลนั้น ได้เคยทำกรรมอะไรไว้หรือ” จึงทรงนำบุรพกรรม[4]ของพระจักขุบาลเถระมาตรัสเล่าให้ภิกษุเหล่านั้นฟัง

พระพุทธเจ้าตรัสสอนธรรม

พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมที่บุตรของเราทำแล้วในกาลนั้น ติดตามเธอไปทุกภาพทุกชาติ  จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปกรรมนี้ย่อมติดตามผู้กระทำไป เหมือนล้อรถที่หมุนตามรอยเท้าโคพลิพัท[5] ตัวเทียมแอกไปอยู่ ฉะนั้น”

ครั้นตรัสเรื่องนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า

“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่  สำเร็จได้ด้วยใจ  ถ้าบุคคลมีใจไม่ดีแล้วไซร้ ไม่ว่าจะพูด หรือว่าจะทำอะไรก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไป เพราะการพูดหรือการกระทำที่ไม่ดีนั้น  ดุจล้อรถหมุนไปตามรอยเท้าโคตัวนำแอกไปอยู่ ฉะนั้น”

พระเถระเดินจงกรมเหยียบแมงเม่าตายไปเป็นจำนวนมากก็จริงอยู่ แต่เพราะท่านตาบอด มองไม่เห็นแมงเม่าเหล่านั้น ทั้งเจตนาที่จะฆ่าแมงเม่าเหล่านั้นให้ตายก็ไม่มี วิบากกรรมในเพราะเหตุนี้จึงไม่มีด้วย เพราะจิตอันประกอบด้วยเจตนาอันเป็นอกุศลของท่านไม่มีเลย ในทางตรงข้าม จิตของท่านในขณะที่เดินจงกรมอยู่นั้น กลับเต็มไปบริบูรณ์ไปด้วยเจตนาที่เป็นกุศลและเต็มเปี่ยมไปด้วยสติอันบริบูรณ์ของพระอริยเจ้า

จิตนี้เอง เป็นตัวแปรและเป็นตัวชี้วัดอันสำคัญยิ่ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการกระทำหรือคำพูดทุกอย่างอันจะเผล็ดผลและบันดาลดลให้วิบากของกรรมนั้นๆ เป็นเช่นไร

เรื่องราวในนิทานธรรมบทเรื่อง “พระจักขุบาลเถระ” นี้ เป็นสิ่งยืนยันคำพูดที่ว่า “ถึงงานเบา ใจไม่เอา มันก็หนัก  ถึงงานหนัก ถ้าใจรัก มันก็เบา” ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นได้เป็นอย่างดี เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้คนเราให้ความสำคัญกับจิตหรือใจนี้เป็นอันดับที่ 1 เพราะพิจารณาเห็นว่าจิตนี้เป็นตัวการสำคัญที่จะส่งผลดลบันดาลให้คนเรามีความสุขหรือมีความทุกข์ก็ได้ เมื่อจิตรู้ ตื่น และเบิกบานแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุนำพาให้สิ่งอื่นๆ ดีงามตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากจิตใจของคนเราประกอบด้วยความโลภ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าหมอง หดหู่ หงุดหงิด เบื่อหน่าย มัวเมา โมโห ย่ำแย่ มีสภาวะที่ไม่ดีเสียแล้ว ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไรก็ตาม ก็จะส่งผลเสียตามมา ทั้งกับตัวเจ้าของจิตดวงนั้น รวมถึงบุคคลและสังคมรอบข้างด้วยเช่นกัน

ลองคิดทบทวนหรือสังเกตดูจิตของเราให้ดีจะเห็นได้ว่า หากเราได้พูดหรือได้ทำอะไรที่จิตใจของเรารู้สึกชอบ รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกว่าน่าท้าทาย รู้สึกว่ามีความสุข รู้สึกว่าทำให้หัวใจพอโตทุกครั้งที่ได้พูดหรือได้ทำ ถึงแม้สิ่งนั้นจะยากลำบากเพียงใด ขอเพียงใจชอบ ขอเพียงใจสู้เท่านั้น ก็จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงไปได้  แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม ที่เมื่อได้พูดหรือทำสิ่งใดแล้ว ทำให้จิตรู้สึกไม่ชอบ อึดอัด ไม่ถนัด ไม่ตื่นเต้น ไม่ท้าทาย ไม่มีความสุข ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ แค่เพียงพลิกฝ่ามือ เราก็จะรู้สึกว่ามันยาก มันลำบาก มันอึดอัด มันไม่ถนัด มันท้อ มันหนักไปเสียทั้งหมด เพราะใจของเราไม่ชอบ ใจของเราไม่เอาตั้งแต่แรกนั่นเอง

ดังนั้น จิตใจของคนเรานี้ จึงเป็นเหมือนกับเข็มทิศ หรือตัวแปรสำคัญ สำหรับกำหนดทิศทางหรือมีส่วนส่งผลให้ทุกคำพูดและทุกการกระทำของเรานั้นออกมาเป็นเช่นไร ซึ่งเมื่อได้แสดงออกมาด้วยคำพูดหรือการกระทำใดๆ แล้ว ก็ไม่อาจจะปฏิเสธผลแห่งคำพูดหรือการกระทำนั้นๆ ในภายหลังได้เลย…

“แพรว…ด้วยความรู้ – พราว…ด้วยประสบการณ์”


[1] ร.ต. ประยงค์ อาญาเมือง  อนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก

[2] (พุทฺธ) สํ.ส. ๑๕/๕๔.

[3] แปลว่า “เป็นพระอรหันต์เพราะบำเพ็ญวิปัสสนาล้วนๆ ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้ เพราะไม่ได้บำเพ็ญฌานมาก่อน”.

[4] รายละเอียดในพระธรรมบทเรื่องพระจักขุบาลเถระ ภาค ๑.

[5] โคที่เขาเทียมเกวียนบรรทุกสินค้า.

ติดตามรับฟังเสียงอ่านนิทานธรรมะเรื่อง “จักขุบาลเถระ” ได้ที่ :